มะกอกน้ํา สรรพคุณและประโยชน์ของมะกอกน้ำ 10 ข้อ !
มะกอกน้ํา สรรพคุณและประโยชน์ของมะกอกน้ำ 10 ข้อ !
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
มะกอกน้ํา
มะกอกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์Elaeocarpus hygrophilus Kurz จัดอยู่ในวงศ์มุ่นดอย (ELAEOCARPACEAE)[1],[3]
สมุนไพรมะกอกน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สมอพิพ่าย (ระยอง), สารภีน้ำ (ภาคกลาง), สีชัง เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของมะกอกน้ำ
- ต้นมะกอกน้ำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้บริเวณริมน้ำและลำห้วย ปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไป[4] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบแต่ไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง มีรูอากาศเป็นแนวยาว เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาลมีรอยแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตื้น ๆ ตามความยาวของลำต้น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมน้ำ ในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ริมน้ำ ตามชายฝั่งทะเล ตามป่าโกงกาง ป่าพรุ[1],[2],[3],[5],[6]
- ใบมะกอกน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปแกมรูปใบหอก ปลายใบมนหรือป้าน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ท้องใบและหลังใบเรียบ ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านใบอ่อนเป็นสีออกแดงเข้ม ส่วนก้านใบแก่เป็นสีแดงอมสีน้ำตาล ยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร[1],[4],[5]
- ดอกมะกอกน้ำ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว ลักษณะห้องลงคล้ายระฆัง มีขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจักเป็นฝอยเล็ก ๆ ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเขียว ปลายกลีบแหลม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ภายในดอกดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-25 อัน มีเกสรเพศเมีย 1 อัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[3],[4] บ้างว่าออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[4]
- ผลมะกอกน้ำ ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายผลเรียวแหลม ผิวผลเรียบเป็นสีเขียว ผลสามารถใช้รับประทาน โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อนผิวผลเกลี้ยง เนื้อในอ่อนนุ่ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ส่วนผลสุกจะเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวอมหวานและฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดมะกอกน้ำเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี ปลายเรียวแหลม ผิวเมล็ดขรุขระและแข็งมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนก้านผลยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ให้ผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[3],[4],[5]
สรรพคุณของมะกอกน้ำ
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)[3]
- ผลมะกอกน้ํามีรสเปรี้ยวอมหวาน นำมาดองกับน้ำเกลือรับประทาน จะช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ดี และช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผล)[1],[2],[3]
- ผลมีรสฝาดเปรี้ยวอมหวาน ใช้กินแก้เสมหะในลำคอได้ (ผล)[6]
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต กำเดา (ดอก)[3]
- ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ คันเหมือนมีตัวไต่อยู่ (ดอก)[3]
- เมื่อนำผลไปดองหรือเชื่อมกิน จะเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณช่วยในการระบาย (ผล)[6]
- เปลือกต้นแห้งมีรสเฝื่อน นำมาขงกับน้ำกินเป็นยาฟอกเลือดหลังการคลอดบุตรของสตรี (เปลือกต้น)[1],[2]
ผู้สนับสนุน
ประโยชน์ของมะกอกน้ำ
- ผลมีรสฝาดอมเปรี้ยวหวาน นำไปดอง เชื่อม แช่อิ่มหรือนำผลดิบมาจิ้มกับน้ำปลาหวานรับประทาน[4],[7] ผลแก่นิยมนำมาดองเป็นผลไม้แปรรูป ใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง[5] โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลมะกอกน้ำในส่วนที่กินได้ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 86 แคลอรี่, น้ำ 75.8 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 22.3 กรัม ใยอาหาร 0.5 กรัม, โปรตีน 1 กรัม, วิตามินเอ 375 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.09 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.4 มิลลิกรัม, วิตามินซี 49 มิลลิกรัม, แคลเซียม 14 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม (ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)[7]
- เมล็ดอาจนำมากลั่นได้น้ำมัน คล้ายกับน้ำมันโอลีฟ (Olive Oil) ของฝรั่ง[3]
- ชาวสวนในภาคกลางจะนิยมปลูกต้นมะกอกน้ำไว้ตามริมร่องสวน เพื่อให้รากช่วยยึดดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินตามริมร่องสวน[5] ปัจจุบันนิยมปลูกไว้เป็นไม้ผลยืนต้นทางเศรษฐกิจ เพราะมีผลผลิตที่สูงอย่างสม่ำเสมอ และขายได้ราคาดี แต่มีบ้างที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมกว้างและโปร่ง ออกดอกดกขาวเต็มต้น[7]
References
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะกอกน้ำ (Ma Kok Nam)”. หน้า 212.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะกอกน้ํา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 147.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะกอกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [14 พ.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “มะกอกน้ํา”.
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา. “มะกอกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 158.108.70.5/botanic/. [14 พ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะกอกน้ํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 พ.ค. 2014].
- แหล่งการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. “มะกอกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.stou.ac.th/study/projects/training/culture/. [14 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chatchai Powthongchin), www.magnoliathailand.com (by natureman),
www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.hinsorn.ac.th
www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.hinsorn.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น