เฉียงพร้านางแอ สรรพคุณและประโยชน์ของเฉียงพร้านางแอ 15 ข้อ !
เฉียงพร้านางแอ สรรพคุณและประโยชน์ของเฉียงพร้านางแอ 15 ข้อ !
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
เฉียงพร้านางแอ
เฉียงพร้านางแอ ชื่อวิทยาศาสตร์Carallia brachiata (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรเฉียงพร้านางแอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก็ก วงคต วงคด องคต (ลำปาง), บงคด (แพร่), นกข่อ ส้มป้อง (เชียงใหม่), ขิงพร้า เขียงพร้า (ตราด, ประจวบคีรีขันธ์), กวางล่าม้า (ภาษาชอง-ตราด), ม่วงมัง หมักมัง (ปราจีนบุรี), โองนั่ง (อุตรดิตถ์), บงมัง (ปราจีนบุรี, อุดรธานี), เขียงพร้านางแอ (ชุมพร), เฉียงพร้า ตะแบง (สุรินทร์), ร่มคมขวาน (กรุงเทพ), สีฟันนางแอง (ภาคเหนือ), ต่อไส้ สันพร้านางแอ (ภาคกลาง), คอแห้ง สีฟัน (ภาคใต้), สะโข่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), กูมุย (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของเฉียงพร้านางแอ
- ต้นเฉียงพร้านางแอ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 25-30 เมตร และสูงได้ถึง 35 เมตร ลำต้นเปลา ตั้งตรง เป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มรูปกรวยกว้างทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมสีแดงถึงสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ และมีรูอากาศมาก หรือเปลือกต้นอาจหนาแตกเป็นร่องลึกตามยาว อาจพบลักษณะคล้ายรากค้ำจุนแบบ Prop root เป็นเส้นยาว หรือจะออกเป็นกระจุกตามลำต้นหรือส่วนของโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และมีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณ ป่าพรุน้ำจืด ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับทะเลจนถึง 1,300 เมตร แต่ในภูมิภาคมาเลเซียจะพบจนถึงระดับความสูงที่ 1,800 เมตร[1],[4]
- ใบเฉียงพร้านางแอ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับกับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปใบหอกกลับ ปลายใบมนมีติ่งเล็กแหลม ส่วนฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหนาและและเหนียว หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมันหนา ท้องใบสีอ่อนกว่า มีจุดสีน้ำตาลกระจาย และมีหูใบอ่อนเป็นรูปหอกแหลมที่ปลายกิ่ง เมื่อร่วงจะเห็นรอยแผล บริเวณข้อพองเล็กน้อย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร[1],[4]
- ดอกเฉียงพร้านางแอ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนง แบบกระจุกสั้น ๆ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็กเรียงตัวกันแน่นเป็นช่อกลม โดนจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 4 กิ่ง กลีบดอกแยกอิสระจากกัน กลีบดอกครีม ลักษณะเป็นรูปกลม ขอบกลีบหยักเว้าพับจีบ โคนสอบแหลมเป็นก้านติดเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนเป็น 2 เท่าของกลีบดอก และยาวไม่เท่ากัน ส่วนจานฐานดอกเป็นวง มีรังไข่เป็นพู 3-4 พู โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[4]
- ผลเฉียงพร้านางแอ เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดเล็ก และออกเป็นกระจุก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ปลายผลคล้ายมงกุฎ ผิวผลเป็นมัน มีเนื้อบางสีเขียวห่อหุ้มอยู่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเมื่อสุดจัด ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลหรือดำ มีเนื้อเยื่อหนาสีส้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยผลจะสุกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[4]
สรรพคุณของเฉียงพร้านางแอ
- ลำต้นใช้ต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงร่างกาย (ต้น)[1],[3],[4]
- ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร หรือใช้เป็นยาเจริญอาหารสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร (ต้น)[1],[3],[4]
- ลำต้นใช้ฝนน้ำกินช่วยแก้ไข้ หรือใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาไข้ตัวร้อน (ต้น,เปลือกต้น)[1],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (เปลือกต้น)[1],[4] ช่วยละบายความร้อน (เปลือกต้น)[4]
- ช่วยขับเสมหะและโลหิต ปิดธาตุ (เปลือกต้น)[1],[4]
- เฉียงพร้านางแอ สรรพคุณของแก่นช่วยขับลม (แก่น)[4]
- ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[4]
- ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ ทำให้อาการของโรคกำเริบ และอาจมีอาการท้องเสีย) ด้วยการใช้ลำต้น ผสมกับลำต้นแคด เปลือกของต้นตับเต่าต้น นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือก)[1],[4]
- ช่วยในการสมานแผล (เปลือกต้น)[1],[4]
- ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเฉียงพร้านางแอ สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์แก้แพ้ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้เล็กน้อยในสัตว์ทดลอง และไม่พบว่ามีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง[4]
ประโยชน์ของเฉียงพร้านางแอ
- ผลสุกใช้รับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน[2],[4]
- ต้นเฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ไม่ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งดอกมีกลิ่นหอม จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา หรือเป็นไม้ประดับอย่างยิ่ง[1]
- ต้นเฉียงพร้านางแอจัดเป็นไม้โตเร็ว จึงเป็นพรรณไม้เพื่อปลูกป่าป้องกันอุทกภัยได้[1]
- เนื้อไม้เฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ที่คงทนแข็งแรงและมีลายไม้ที่สวยงาม จึงนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไปได้ดี หรือทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตรก็ได้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ทำฟืนเผาถ่านให้ความร้อนสูง[1]
- ผลสุกเป็นอาหารที่โปรดปรานของนก กระรอก และสัตว์ป่าขนาดเล็กหลายชนิด จึงช่วยดึงดูดสัตว์เหล่านี้ได้ดี[1]
References
- พรรณไม้เพื่อปลูกป่าป้องกันอุทกภัย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เฉียงพร้านางแอ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [17 ธ.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เฉียงพร้านางแอ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 ธ.ค. 2013].
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม4: กกยาอีสาน (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เฉียงพร้านางแอ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [17 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, John Elliott Townsville, FloraFNQ, Terentang, Oriolus84, dinesh_valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น