กะทกรก สรรพคุณและประโยชน์ของกะทกรก 30 ข้อ ! (กะทกรกป่า)

กะทกรก สรรพคุณและประโยชน์ของกะทกรก 30 ข้อ ! (กะทกรกป่า)

กระทกรก
ผู้สนับสนุน 

กะทกรก

กะทกรก ชื่อสามัญ Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking Passion Flower
กะทกรก ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora foetida L. จัดอยู่ในวงศ์กะทกรก (PASSIFLORACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรกะทกรก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักขี้หิด (เลย),รุ้งนก (เพชรบูรณ์), เงาะป่า (กาญจนบุรี), เถาเงาะ เถาสิงโต (ชัยนาท), ยันฮ้าง (อุบลราชธานี), เยี่ยววัว (อุดรธานี), ผักบ่วง (สกลนคร), หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), เครือขนตาช้าง (ศรีษะเกษ), ตำลึงฝรั่ง ตำลึงทอง ผักขี้ริ้ว ห่อทอง (ชลบุรี), รกช้าง (ระนอง), หญ้ารกช้าง (พังงา), ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ), รก (ภาคกลาง), กระโปรงทอง (ภาคใต้), ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี), ผักแคบฝรั่ง (ขมุ), มั้งเปล้า (ม้ง), หล่อคุ่ยเหมาะ(กะเหรี่ยงแดง), เล่งจูก้วย เล้งทุงจู (จีน), รังนก, กะทกรกป่า เป็นต้น[1],[2],[3],[5],[6],[7],[8]

ลักษณะของกะทกรก

  • ต้นกะทกรก จะเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ[1],[2],[5]
ต้นกะทกรก
  • ใบกะทกรก มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นทั้งสองด้าน และที่ขนมีน้ำยางเหนียว[1],[3]
ใบกะทกรก
  • ดอกกะทกรก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกมีกลีบดอก 10 กลีบ กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบด้านในเป็นสีขาว มีกระบังรอบเป็นเส้นฝอยมีสีขาวโคนม่วง ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกเป็นเส้นฝอย ดอกมีก้านชูเกสรร่วม แยกเป็นเกสตัวผู้ประมาณ 5-8 อัน ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีประมาณ 3-4 อัน รังไข่เกลี้ยง[1],[4]
รูปกะทกรก
ดอกกะทกรกป่า
ดอกกะทกรก
  • ผลกะทกรก หรือ ลูกกะทกรก ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีส้ม และมีใบประดับเส้นฝอยคลุมอยู่ ภายในผลมีเนื้อหุ้มเมล็ดใสและฉ่ำน้ำ (คล้ายกับเมล็ดแมงลักแช่น้ำ) มีรสหวานแบบปะแล่ม ๆ[1],[2] และจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[10]
ผลกะทกรกป่า
ลูกกะทกรก
ผลกะทกรก

สรรพคุณของกะทกรก

  1. กะทกรก สรรพคุณของเปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง (เปลือก)[5],[8]
  2. เนื้อไม้ ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)[3] ส่วนเถาใช้เป็นยาธาตุ (เถา)[5]
  3. รากสดหรือรากตากแห้ง ใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น (ราก)[5]
  4. ผลดิบมีรสเมาเบื่อ ส่วนผลสุกมีรสหวานเย็น มีสรรพคุณช่วยบำรุงปอด (ผล)[1],[3],[8]
  5. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)[6]
  6. ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด (เนื้อไม้)[3]
  7. ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง (ราก)[4]
  8. แพทย์ชาวเวียดนามใช้ใบเป็นสงบระงับ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)[4]
  9. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบนำมาตำใช้พอกหรือประคบที่ศีรษะ (ใบ)[8]
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น (ราก)[3],[8]
  11. ใบใช้ตำพอกศีรษะ ช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูก (ใบ)[5],[8]
  12. ช่วยแก้อาการไอ (ใบ,ดอก,ต้น,ทั้งต้น)[1],[3],[8]
  13. ช่วยขับเสมหะ (ใบ,ต้น,ทั้งต้น)[1],[3],[8]
  14. เมล็ดใช้แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น แล้วเอาไปทาท้องเด็ก (เมล็ด)[8],[9]
  15. ใบนำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาเบื่อและยาขับพยาธิ (ใบ)[3]
  16. ดอก ใบ และทั้งต้นมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ,ดอก,ต้น,ทั้งต้น)[1],[3],[8]
  17. เถาและรากสดใช้ต้มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น (ราก)[4]
  18. ช่วยแก้กามโรค (ราก)[3],[8]
  19. ช่วยรักษาบาดแผล (เนื้อไม้[3], ใบ[8], ผล[8]) และเถาใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (เถา)[5]
  20. ใบใช้ตำพอกฆ่าเชื้อบาดแผล (ใบ)[1]
  21. เปลือกใช้ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก (เปลือก)[5]
  22. เปลือกช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง (เปลือก)[8]
  23. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร นำมาทาวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด (ใบ)[1],[8]
  24. ช่วยแก้อาการปวด (ผล)[1],[3]
  25. ช่วยแก้อาการบวม (ใบ,ต้น,ทั้งต้น)[1],[3] แก้อาการบวมที่ไม่รู้สาเหตุ (ทั้งต้น)[8]
  26. ช่วยแก้อาการเหน็บชา โดยนำมาสับตากแดด แล้วนำมาต้มกิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  27. ใบนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกรักษาสิว (ใบ)[3]
ผู้สนับสนุน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกะทกรก

  • ผลอ่อนและใบอ่อนมีสารประกอบไซนาไนด์คือ ไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ ส่วนอีกรานพบว่าใบกะทกรกมีกรดไฮโดรไซยานิก ซึ่งเป็นสารพิษ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อนที่นานพอ และในงานวิจัยยังใช้ส่วนของลำต้นและใบ เพื่อนำมาประเมินคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี โดยสกัดด้วยวิธีการสกัดต่อเรื่องด้วยเครื่องสกัดต่อเนื่อง ด้วยเอทานอล 95% จะได้ปริมาณสารสกัดเท่ากับ 23.37% โดยน้ำหนัก ซึ่งสารสกัดที่ได้จะเป็นของเหลวที่มีลักษณะจ้นหนืด เป็นสีน้ำตาล และมีกลิ่นเฉพาะตัว[4]
  • เมื่อให้สารสกัดกะทกรกทางปากในสัตว์ทดลองซึ่งเป็นหนูตัวผู้พันธุ์วิสตาร์ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในช่วง 180-220 กรัม เป็นระยะเวลา 28 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางอย่างกว้างขวาง มีฤทธิ์ทำให้สงบระงับได้ สามารถช่วยระงับความวิตกกังวล ช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดอาการความจำบกพร่อง และยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส นอกจากนี้ยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นสารสกัดกะทกรกด้วยเอทานอลในรูปแบบของยาเม็ดขนาด 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด ซึ่งจะได้เป็นยาเม็ดที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของการผลิตเป็นยาสมุนไพรที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และยังมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพดี มีความคงตัวสูง[4]

ประโยชน์ของกะทกรก

  1. ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้ม สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำมาต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก และแกงเลียง[2],[5],[6],[7] ผลสามารถนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้[10]
  2. ในด้านทางการเกษตร เนื่องจากต้นกะทกรกมีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปยับยั้งการเกิดเป็นตัว[11]
  3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้ เนื่องจากต้นกะทกรกมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำลายได้[2]

ข้อควรระวังในการรับประทานกะทกรก

  • ทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำไปต้มให้สุกก่อนนำมาใช้[1]
  • ผลอ่อนมีพิษ เนื่องจากมีสารไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glucoside) เปลือกผล เมล็ด และใบมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อสารดังกล่าวสลายตัวจะทำให้ Acetone และ Hydrocyanic acid (สารชนิดหลังเป็นพิษ) ทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการเจียน[2]
กะทกรกป่า
References
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กะทกรก Ka Thok Rok“. หน้าที่ 42.
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะทกรก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [8 ม.ค. 2014].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กะทกรก“.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [8 ม.ค. 2014].
  4. ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “กะทกรก“.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th.  [8 ม.ค. 2014].
  5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กะทกรกป่า“.  (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [8 ม.ค. 2014].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กะทกรก“.  อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [8 ม.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กะทกรก“.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [8 ม.ค. 2014].
  8. มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สมุนไพรไทยกะทกรก“. (วชิราภรณ์ ทัพผา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [8 ม.ค. 2014].
  9. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “กะทกรก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [8 ม.ค. 2014].
  10. โครงการฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “กะทกรก ตำลึงทอง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th.  [8 ม.ค. 2014].
  11. สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนทุ่งโพวิทยา.  “กระทกรก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: botany.hostzi.com.  [8 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, webersaustin, Reinaldo Aguilar, Ahmad Fuad Morad, João de Deus Medeiros, Navida2011, Cledry2)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม