ไข่เน่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไข่เน่า 23 ข้อ ! (ฝรั่งโคก)
ไข่เน่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไข่เน่า 23 ข้อ ! (ฝรั่งโคก)
ผู้สนับสนุน
ไข่เน่า
สมุนไพรไข่เน่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เห็น (เลย, อุบลราชธานี), ปลู (เขมร-สุรินทร์), คมขวาน ฝรั่งโคก (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2],[6]
ลักษณะของไข่เน่า
- ต้นไข่เน่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-25 เมตร ผิวลำต้นเกลี้ยงเป็นสีหม่นและมีด่างเป็นดวงสีขาว ๆ[1],[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเปลือกมีสีเทาหรือสีน้ำตาลแกมสีเหลือง ลักษณะผิวเรยบหรือแตกเป็นสะเก็ด หรือเป็นร่องตื้นตามยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนนุ่ม กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสีสีเหลี่ยม ส่วนต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยแตกกิ่งต่ำ[8] เจริญเติบโตได้ดีในที่แห้งแล้ง โดยจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 3-4 ปีหลังการปลูก[7] โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบทั่วไป และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[3],[8]
- ใบไข่เน่า มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ อยู่เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อยมี 3-5 ใบย่อย ใบมีสีเขียวเข้ม (คล้ายใบงิ้ว) ลักษณะคล้ายรูปไข่ไข่กลับ หรือเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลีบ ใบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบสอบแหลมหรือมน ขนาดของใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนสั้นอยู่ประปราย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบจะยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ดอกไข่เน่า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีม่วงอ่อน (หรือสีม่วงอมชมพู สีขาวมีแดงเรื่อ ๆ[7]) กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง และมีขนละเอียดที่ดอก[1],[2],[3],[4] ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร[8] โดยดอกจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศผสมตัวเอง หรือต่างต้นต่างดอกก็ได้ และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[7]
- ผลไข่เน่า หรือ ลูกไข่เน่า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ขั้วผลเป็นรูปกรวยกว้าง ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผลมีเนื้ออ่อนนุ่ม และมีรสหวานอมเปรี้ยวและเหม็น ส่วนเมล็ดไข่เน่าจะมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย และยังมีการสันนิษฐานว่า ชื่อไข่เน่านี้คงมาจากลักษณะและสีของผลนั่นเอง[1],[2],[3],[4] โดยผลแก่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[7]
สรรพคุณของไข่เน่า
- ผลใช้รับประทาน กินแล้วหัวดี ช่วยบำรุงสมองได้ (ผล)[7]
- ผลอุดมไปด้วยแคลเซียม จึงช่วยบำรุงกระดูก แก้กระดูกผุสำหรับผู้สูงอายุได้ดี (ผล)[7]
- รากไข่เน่า สรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก,เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
- ผลสุกใช้รับประทาน มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ผล,เปลือกต้น)[1],[4],[7]
- ช่วยแก้ตานขโมย (โรคพยาธิในเด็ก ที่มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผอมแห้ง ซุบซีด มีอาการท้องเดิน ก้นปอด) (ราก,เปลือกต้น,ผล)[1],[2],[4],[7]
- ช่วยรักษาพิษตานซาง (เปลือกต้น)[7]
- ไข่เน่า สรรพคุณของเปลือกต้นช่วยแก้ไข้ (เปลือกต้น)[1],[3],[7]
- ช่วยแก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา (ผล[1],[4], เปลือกผล[7])
- เปลือกต้นมีรสฝาด สรรพคุณช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ราก,เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
- รากและเปลือกต้น มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้บิด (ราก,เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[7]
- ช่วยรักษาอาการท้องร่วง (ราก)[7]
- ช่วยแก้เด็กถ่ายเป็นฟอง (เปลือกต้น)[2],[7]
- เปลือกต้นไข่เน่า สรรพคุณช่วยขับพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร (เปลือกต้น)[3],[7] รากใช้ขับพยาธิไส้เดือน (ราก)[7]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะ หรือโรคลำไส้อักเสบของเด็กทารก (เปลือกผล)[7]
- ช่วยในระบบขับถ่าย (ผล)[7]
- ช่วยบำรุงระบบเพศ (ผล)[7]
- ลูกไข่เน่า สรรพคุณช่วยบำรุงไต (ผล)[7]
- สรรพคุณต้นไข่เน่า ช่วยแก้เลือดตกค้าง (เนื้อไม้)[1],[4]
- นอกจากนี้หมอยาโบราณยังนิยมใช้เปลือกของต้นไข่เน่า มาต้มรวมกับรากเต่าไห้ เพื่อปรุงเป็นยารักษาโรคซางในเด็ก และเป็นยาขับพยาธิ (เปลือกต้น)[3]
ข้อมูลไข่เน่า : เปลือกต้นไข่เน่า จะมีสารจำพวกสเตอรอยด์ (Steroid)ที่มีชื่อว่า -sitosterol และ ecdysterone และ anguside (p-hydroxybenzoic ester of aucubin
ผู้สนับสนุน
ประโยชน์ของไข่เน่า
- ประโยชน์ของลูกไข่เน่า ผลสุกใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ได้ แต่จะมีรสหวานเอียน ไม่อร่อยนัก หากใส่เกลือป่นหรือจิ้มเกลือก็จะทำให้มีรสชาติดีขึ้น[3] หรือจะคลุกเคล้ากับเกลือแล้วนำไปผึ่งแดดเก็บไว้รับประทาน หรือจะรับประทานแบบสด ๆ หรือนำไปดองน้ำเกลือก็ได้เช่นกัน[7]
- ผลไข่เน่ายังสามารถนำไปทำเป็นขนมที่เรียกว่า “ขนมไข่เน่า” ได้ด้วย โดยวิธีการทำก็คล้ายกับการทำขนมกล้วย แต่เปลี่ยนจากกล้วยเป็นไข่เน่า ด้วยการหยอดใส่ใบตองทรงกรวยแหลม แล้วเอามะพร้าวขูดโรยหน้าก่อนจะนำไปนึ่ง[7]
- ต้นไข่เน่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี เป็นไม้ที่น่าปลูกสะสม เพราะในปัจจุบันเริ่มหายากลงทุกที โดยจะริยมปลูกไว้เพื่อเป็นร่มเงา เนื่องจากไม่ผลัดใบ[7]
- เนื้อไม้ของต้นไข่เน่ามีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้[3]
References
- ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th. [4 พ.ย. 2013].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [4 พ.ย. 2013].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ไข่เน่า, ฝรั่งโคก“. (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [4 พ.ย. 2013].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ไข่เน่า”. (มะลิวัลย์ ชื่นอารมย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [4 พ.ย. 2013].
- แหล่งเรียนรู้ ศูนย์ค้ำคูณ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khonkaen.nfe.go.th. [4 พ.ย. 2013].
- .ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [4 พ.ย. 2013].
- GotoKnow. “ไข่เน่า“. (นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [4 พ.ย. 2013].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (FBD). สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [4 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.komchadluek.net, www.flickr.com (by Nieminski, Tony Rodd, Nieminski)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น