มะดัน สรรพคุณและประโยชน์ของมะดัน 25 ข้อ !
มะดัน สรรพคุณและประโยชน์ของมะดัน 25 ข้อ !
สารบัญ
ผู้สนับสนุน
มะดัน
มะดัน ชื่อสามัญ Madan (ตรงตัว)
มะดัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia schomburgkiana Pierre จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
สมุนไพรมะดัน มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า ส้มมะดัน, ส้มไม่รู้ถอย เป็นต้น
ลักษณะของมะดัน
- ต้นมะดัน เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 7-10 เมตร แตกกิ่งก้านออกเป็นพุ่ม ลักษณะของเปลือกต้นจะเรียบ สีน้ำตาลอมอมดำ ลักษณะของ
- ใบมะดัน เป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม รูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ ออกเรียงสลับกัน โคนใบและปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบลื่น
- ดอกมะดัน เป็นดอกเดี่ยวหรือออกดอกเป็นกระจุกประมาณ 3-6 ดอก โดยดอกจะออกตามซอกใบ ดอกมีสีเหลืองอมส้มนิด ๆ ดอกมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ค่อนข้างกลม กลีบดอกมี 4 กลีบ คล้ายรูปแกมรูปไข่ ส่วนปลายกลีบจะมน และดอกเพศจะมีเกสเพศผู้อยู่ 10-12 อัน
- ผลมะดัน หรือ ลูกมะดัน ลักษณะของผลจะคล้ายรูปรีปลายแหลม ผลมีสีเขียว ลักษณะผิวเรียบเป็นมันลื่น ผลมีรสเปรี้ยวถึงเปรี้ยวจัด ด้านในผลมีเมล็ดประมาณ 3-4 เมล็ดติดกัน เมล็ดแข็งและขรุขระ โดยในผลจะมีวิตามินซีสูง และยังมีสารอาหารหรือสารสำคัญอย่างเบต้าแคโรทีน รวมไปถึงแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส เป็นตัน
สรรพคุณของมะดัน
- ในทางเภสัชวิทยาพบว่ามะดันมีสารสำคัญซึ่งมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้
- สรรพคุณมะดัน ผลช่วยแก้อาการคอแห้ง ช่วยทำให้ชุ่มชื่นคอ (ผล)
- ใบและรากปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้กระษัย (รก,ราก,ใบ,ผล,เปลือกต้น
- ใบปรุงเป็นยาต้ม ช่วยขับฟอกโลหิต (รก,ราก,ใบ,ผล,เปลือกต้น)
- ช่วยแก้เบาหวาน (ราก)
- มะดัน สรรพคุณช่วยรักษาไข้หวัด (รก,ราก,ใบ,ผล,เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ไข้ทับระดู (รก,ราก,เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการหวัด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการทำเป็นยาสูตรดองเปรี้ยวเค็ม (ใบ,ผล)
- ใช้เป็นยาแก้เสมหะ เสมหะพิการ กัดเสมหะในลำคอได้เป็นอย่างดี หรือจะปรุงเป็นยาต้มกินก็ได้ (รก,ราก,ใบ,ผล,เปลือกต้น)
- สรรพคุณของมะดัน ผลใช้ทำเป็นยาดองเปรี้ยวเค็ม ช่วยฟอกเสมหะ ล้างเสมหะ (ผล)
- ผลมะดันนำมาดองน้ำเกลือ ใช้รับประทานเพื่อแก้อาการน้ำลายเหนียว หรือเป็นเมือกในลำคอ (ผล)
- ใช้เป็นยาระบายอ่อน โดยปรุงเป็นยาต้ม (ราก)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
- ใบมะดัน และรากปรุงเป็นยาต้มช่วยแก้ระดูเสียในสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือจะทำเป็นยาดองเปรี้ยวเค็มก็ได้เช่นกัน (ราก,ใบ,ผล)
วิธีการปรุงเป็นยาต้ม ด้วยการใช้ใบหรือผลประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที และบางตำราบอกให้ต้มแบบไม่ใช้ไฟแรง ให้น้ำค่อยเดือด ๆ และต้ม 3 ส่วน เคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน โดยขนาดที่รับประทานคือ ครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว (125-250 cc) สรรพคุณช่วยแก้กระษัย ฟอกโลหิต ฟอกประจำเดือน เป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่สำหรับผู้ที่โรคโลหิตจางไม่ควรรับประทานอาหารหรือยาที่มีรสเปรี้ยวเพราะจะยิ่งไปกัดฟอกโลหิตมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
ผู้สนับสนุน
ประโยชน์ของมะดัน
- ประโยชน์ของมะดัน ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้ เพราะมีสารกลุ่ม AHA และ BHA โดยได้การนำมาใช้ในวงการเครื่องสำอาง ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่โทนเนอร์ ครีมบำรุงผิว เป็นต้น
- มีการนำมะดันมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ บ้างก็ใช้ปรุงในเครื่องดื่ม บ้างก็นำไปใช้ทำเป็นโทนเนอร์เช็ดหน้า
- ประโยชน์มะดัน ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้สด โดยจิ้มกับพริกเกลือ
- ผลสามารถนำไปแปรรูปเป็น มะดันแช่อิ่ม หรือ มะดันดองแช่อิ่ม
- ผลมีรสเปรี้ยวจัดใช้แทนมะนาวได้ เช่น การตำน้ำพริก น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกทรงเครื่อง น้ำพริกสับกากหมู หรือใช้ใส่ในแกงที่ต้องการความเปรี้ยวอย่างแกงส้มหรือต้มยำ เป็นต้น
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้
- ยอดอ่อนนำมาใส่ต้มปลา ต้มไก่ จะให้รสเปรี้ยวแทนมะนาวได้และยังทำให้มีรสชาติของอาหารหวานและหอมขึ้นด้วย
- กิ่งของมะดันนำมาใช้หนีบไก่ปิ้ง หรือไก่ปิ้งไม้มะดัน จะช่วยทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น
- ต้นมะดัน เป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมขังได้ดีมากที่สุดชนิดหนึ่ง มันจึงเหมาะถ้าจะปลูกไว้ในบริเวณที่อาจเกิดน้ำท่วม
- ต้นมะดันมีทรงพุ่มที่สวยงาม จึงเป็นต้นไม้ที่สามารถใช้ประดับสถานที่ได้เป็นอย่างดี
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะดัน ต่อ 100 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 0.3 กรัม
- เส้นใย 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 431 หน่วยสากล
- วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 17 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนมะดัน ต่อ 100 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 7.3 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 0.3 กรัม
- วิตามินเอ 225 หน่วยสากล
- วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.02 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 16 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 103 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม
วิธีการทำเป็นยาดองเปรี้ยวเค็ม ด้วยการใช้ผลมะดันนำยาบดเป็นผงหยาบ ๆ ห่อด้วยผ้าขาวบางหลวม ๆ แล้วใส่ไว้ในโหลแก้ว เติมเหล้าให้ท่วมผ้าห่อยา แช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ในระหว่างที่แช่ให้บีบผ้าห่อยาบ่อย ๆ เพื่อให้ตัวยาออกมา เมื่อครบ 7 วันให้นำมารับประทานครั้งละ 1 แก้ว
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
ภาพประกอบ : www.lanpanya.com (aram), bloggang.com, pharmacy.msu.ac.th, siamfishing.com (ป้าแอ้เข้าครัว)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น