มะปราง สรรพคุณและประโยชน์ของมะปราง-มะยงชิด 14 ข้อ !
มะปราง สรรพคุณและประโยชน์ของมะปราง-มะยงชิด 14 ข้อ !
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
มะปราง
มะปราง ชื่อสามัญ Marian Plum, Plum Mango
มะปราง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouea macrophylla Griff. จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
มะปราง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บักปราง (ภาคอีสาน), มะผาง (ภาคเหนือ), ปราง (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของมะปราง
- ต้นมะปราง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า และมาเลเซีย จัดเป็นไม้ผลที่มีทรงของต้นค่อนข้างแหลมถึงทรงกระบอก มีรากแก้วที่แข็งแรง มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบ ลำต้นสูงประมาณ 15-30 เมตร ลักษณะของใบมะปราง จะคล้ายใบมะม่วงแต่มีขนาดเล็กกว่า และใบเป็นใบเรียวยาว มีสีเขียว ขอบใบเรียบแผ่นใบเหนียว มีเส้นใบเห็นเด่นชัด ใบอ่อนมีสีม่วงแดง ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนดอกมะปราง จะออกดอกเป็นช่อ ออกบริเวณปลายกิ่งแขนง ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และช่อดอกจะยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร
- ดอกมะปราง
- ผลมะปราง มีลักษณะคล้ายรูปไข่และกลม ปลายเรียวแหลม โดยมะปราง 1 ช่อ จะมีผลอยู่ประมาณ 1-15 ผล ผลดิบของมะปรางจะมีสีเขียวอ่อนถึงเข้ม ส่วนผลสุกจะมีสีเหลืองถึงเหลืองอมส้มและลักษณะของเปลือกจะนิ่ม เนื้อด้านในสีเหลืองแดงส้มออกแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มะปรางมีรสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวจัด ในผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ดลักษณะคล้ายกับเมล็ดมะมะม่วง
ในพืชตระกูลมะปราง สามารถแบ่งออกได้เป็น มะปรางหวาน, มะปรางเปรี้ยว, มะยงชิด, มะยงห่าง, กาวาง
- มะปรางหวาน ผลดิบและผลสุกจะมีรสชาติหวานสนิท ผลมีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ความหานก็จะแตกต่างกันออกไป จะหวานมากหรือน้อยเท่านั้น แต่เมื่อรับประทานแล้วอาจไอไอระคายคอหรือคันคอได้ถ้าหวานสนิท
- มะปรางเปรี้ยว จะมีรสเปรี้ยวทั้งผลดิบและผลสุก ขนาดก็ทั้งผลเล็กและผลใหญ่ มะปรางเปรี้ยว จะเหมาะสำหรับการนำไปแปรรูปมากกว่าที่จะรับประทานสด ๆ เช่น มะปรางดอง มะปรางแช่อิ่ม น้ำมะปราง ฯลฯ
- มะยงชิด เป็นมะปรางที่มีรสหวานอมเปรี้ยวหรือมีรสหวานและเปรี้ยวอยู่ในผลเดียวกัน ขนาดก็มีทั้งผลเล็กและผลใหญ่ โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร มะยงชิดจะมีรสชาติหวานมากกว่าเปรี้ยว ผลดิบจะมีรสมัน ส่วนผลสุกจึงจะออกหวาน ลักษณะของเนื้อค่อนข้างแข็ง มีเปลือกหนา (แต่ถ้ารสเปรี้ยวมากกว่าหวาน เราจะเรียกว่า “มะยงห่าง”)
- มะยงห่าง ลักษณะภายนอกจะคล้ายกับมะยงชิดมาก แต่ที่ต่างกันก็คือรสชาติ โดยมะยงห่างจะมีรสเปรี้ยวมากและมีรสหวานอยู่บ้างเล็กน้อย แต่มะยงห่างจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมปลูกเพื่อการค้าสักเท่าไหร่
- กาวาง ลักษณะภายนอกจะคล้ายมะยงชิดและมะยงห่าง แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือจะมีรสเปรี้ยวใกล้เคียงกับมะดัน โดยที่มาของชื่อกาวางนั้นมีเรื่องเล่าว่า มีนกกาที่หิวโซ บินมาเห็นผลไม้ชนิดนี้มีสีเหลืองสวยงาม แต่เมื่อลองจิกกินเพื่อลิ้มรสชาติก็ต้องรีบวางแล้วบินหนีไปทันที จึงเป็นที่มาของชื่อ “กาวาง”
มะยงชิด กับ มะปราง ต่างกันอย่างไร
- มะปรางโดยรวมแล้วขนาดของผลจะเล็กกว่ามะยงชิด
- มะปรางบางสายพันธุ์รับประทานแล้วอาจคันหรือระคายคอ แต่มะยงชิดเมื่อรับประทานแล้วจะไม่มีอาการดังกล่าว
- มะปรางผลดิบจะมีสีเขียวออกซีด แต่มะยงชิดผลดิบจะมีสีเขียวจัดกว่ามะปราง
- มะปรางผลสุกมีสีเหลืองอ่อน แต่มะยงชิดจะมีสีเหลืองแกมส้ม
- มะปรางผลดิบมีรสมัน แต่มะยงชิดผลดิบรสจะเปรี้ยวจัด
- มะปรางผลสุกมีรสหวานมาก แต่มะยงชิดผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว
ผู้สนับสนุน
ประโยชน์ของมะปราง
- มะปรางเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีนสูง
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
- ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง เบาหวาน ความดัน เป็นต้น
- มะปรางมีวิตามินสูงจึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี
- มะปรางมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสจึงช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
- ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยฟอกโลหิต
- ช่วยแก้เสลดทางวัว
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
- รากมะปรางมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการไข้กลับ ถอนพิษสำแดง
- ใบมะปราง ใช้ทำเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ
- น้ำจากต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอ
- ผลสุกมะปราง ใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือใช้ทำน้ำผลไม้ ทำแยม นำไปกวน ส่วนผลดิบใช้จิ้มน้ำปลาวาน กะปิหวาน หรือนำไปใช้ดองและแช่อิ่ม
- มะปรางเป็นผลไม้ที่เหมาะกับคนธาตุดิน หรือผู้ที่เกิดในราศีพฤษภ ราศีกันย์ ราศีมังกร และผู้เกิดตามธาตุนี้ มักจะเสี่ยงกับโรคความอ้วน ความดัน เบาหวาน โรคทางเดินหายใจ ซึ่งมะปรางถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ
คุณค่าทางโภชนาการของมะปราง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 47 กิโลแคลอรี่
- โปรตีน 0.4 กรัม
- เส้นใย 1.5 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 11.3 กรัม
- เบต้าแคโรทีน 230 ไมโครกรีม
- วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.5 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 100 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : หนังสือ คัมภีร์แพทย์สมุนไพร ผลไม้สมุนไพรและพืชผักสวนครัว
แหล่งอ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หนังสือเภสัชกรรมไทยฯ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือคัมภีร์แพทย์สมุนไพร ผลไม้สมุนไพรและพืชผักสวนครัว
ภาพประกอบ : maprangboonchop.com, gardenandfruituttaradit.blogspot.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น