22 สรรพคุณของมะเดื่อชุมพร ! (มะเดื่ออุทุมพร, มะเดื่อไทย)

22 สรรพคุณของมะเดื่อชุมพร ! (มะเดื่ออุทุมพร, มะเดื่อไทย)

มะเดื่ออุทุมพร
ผู้สนับสนุน 

มะเดื่อชุมพร

มะเดื่อชุมพร ชื่อสามัญCluster fig, Goolar (Gular),  Fig
มะเดื่อชุมพร ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus glomerata Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
มะเดื่อชุมพร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ), มะเดื่อน้ำ มะเดื่อหอม หมากเดื่อ เดื่อเลี้ยง (ภาคอีสาน), มะเดื่อ มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อชุมพร เดื่อน้ำ กูแซ (ภาคใต้), มะเดื่อดง, มะเดื่อไทย, มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้น
ข้อควรรู้ ! : สาเหตุที่มีชื่อว่า มะเดื่อชุมพร ก็เนื่องมาจากเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดชุมพร และต้นมะเดื่อชุมพรจัดเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน (มะเดื่อชุมพร กับ มะเดื่อฝรั่ง เป็นคนละชนิดกันนะครับ !)

ลักษณะของมะเดื่อชุมพร

  • ต้นมะเดื่อชุมพร มีถิ่นกำเนิดครอบคลุมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลเกลี้ยง ส่วนใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามกิ่ง ใบเป็นรูปทรงรี หรือรูปหอก โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนไม่หลุดร่วงง่าย ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงในใบประมาณ 6-8 คู่ และก้านยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนดอกมะเดื่อชุมพร จะออกดอกเป็นช่อยาวตามกิ่ง โดยแต่ละช่อก็จะมีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นกลุ่ม ดอกช่อจะเกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล และดอกมีสีขาวอมชมพู ลักษณะของลูกมะเดื่อชุมพร มีลักษณะทรงกลมแป้นหรือรูปไข่ ผลจะเกาะกลุ่มอยู่ตามต้นและตามกิ่ง ห้อยเป็นระย้าสวยงาม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงม่วง มีรสฝาดอมหวาน สามารถรับประทานได้ ซึ่งดอกและผลนี้จะออกตลอดปี
มะเดื่ออุทุมพร
ต้นมะเดื่อไทยใบมะเดื่อไทย
  • มะเดื่อชุมพร ปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก สาเหตุคงมาจากผลสุกมักจะมีแมลงหวี่อยู่ในผลด้วยเสมอ ทำให้หลาย ๆคนรู้สึกไม่ค่อยดีนัก หรืออาจมองว่ามันสกปรกจนไม่น่ารับประทาน แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับมะเดื่ออย่างมากเพราะเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว โดยต้นมะเดื่อกับแมลงหวี่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยมะเดื่ออาศัยให้แมลงหวี่ช่วยผสมเกสรให้ติดเมล็ด ส่วนแมลงหวี่ก็อาศัยมะเดื่อเป็นอาหารและฟักไข่จนเป็นตัว จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยกันและกันในการสืบพันธุ์ต่อไป
มะเดื่อไทย

ประโยชน์ของมะเดื่อชุมพร

  1. มะเดื่อชุมพรใช้เป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้หัว ไข้กาฬ หรือไข้พิษทุกชนิด (ราก)
  2. ช่วยกล่อมเสมหะ และโลหิต (ราก)
  3. ช่วยแก้อาเจียน (เปลือก)
  4. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ในคาบสมุทรมลายู) (ราก)
  5. ช่วยแก้ธาตุพิการ (เปลือก)
  6. ผลดิบช่วยแก้โรคเบาหวาน (ผลดิบ)
  7. เปลือกต้นใช้รับประทานแก้อาการเสีย ท้องร่วง (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) (เปลือกต้น)
  8. ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
  9. ผลสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
  10. ช่วยห้ามเลือด และชะล้างบาดแผล (เปลือกต้น)
  11. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
  12. ช่วยแก้ประดงเม็ดผื่นคัน (เปลือก)
  13. ในคาบสมุทรมลายู จะใช้รากต้มกับน้ำปรุงเป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร (ราก)
  14. ไม้มะเดื่อจัดเป็นไม้มงคลที่สามารถปลูกไว้ในบ้าน และยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในสมัยอดีตจะใช้ไม้มะเดื่อทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก ใช้ทำเป็นกระบวยตักน้ำเจิมถวาย และใช้ทำหม้อน้ำสำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี
  15. ผลสุกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลายชนิด เช่น กระรอก นก หนู ฯลฯ แถมยังเป็นการขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพรไปด้วยในตัว เพราะเมล็ดของมะเดื่อจะงอกดีมากขึ้นเพราะมีน้ำย่อยในกระเพาะของสัตว์
  16. ยางเหนียวใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง
  17. เนื้อไม้ของต้นมะเดื่อสามารถใช้ทำเป็นแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟันได้
  18. ใบอ่อน ใช้นึ่งกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  19. ยอดอ่อน ใช้ลวกกินกับน้ำพริก
  20. ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
  21. หัวใต้ดิน สามารถนำไปนึ่งรับประทานได้
  22. ช่อดอก หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยใช้จิ้มกับผัก หรือใช้ทำแกงอย่างแกงส้มก็ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน, เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (George)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม