จําปาดะ สรรพคุณและประโยชน์ของของจำปาดะ 18 ข้อ !

จําปาดะ สรรพคุณและประโยชน์ของของจำปาดะ 18 ข้อ !

จำปาดะ
ผู้สนับสนุน 

จำปาดะ

จําปาดะ คืออะไร? จำปาดะ คือ ชื่อผลไม้ของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในวงศ์ MORACEAE เช่นเดียวกับขนุน และสาเก หรือจะเรียกผลไม้ชนิดนี้ ว่าขนุนถิ่นใต้ ก็ได้ครับ (สังเกตว่าลักษณะของผลก็จะคล้าย ๆกัน แต่ผลจำปาดะจะเล็กกว่า)
จําปาดะ ภาษาอังกฤษ Champedak (แต่ทีมาเลเซียจะเรียกว่า Bankong)
จําปาดะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus integer

ลักษณะของจำปาดะ

  • ต้นจำปาดะ มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมาลา อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี ในบ้านเราจะนิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ โดยจัดเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอเกาะยอ จังหวัดสตูล และเป็นผลไม้ที่หารับประทานได้ยากมาก ๆ ซึ่งจะหาได้เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น อีกทั้งจำปาดะยังให้ผลเพียงปีละครั้งเท่านั้น (ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงได้ประมาณ 20 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา มียางสีขาวขุ่น โดยจะออกผลตามลำต้นและตามกิ่ง ลักษณะของใบจำปาดะใบคล้ายรูปไข่ มีสรเขียวเป็นมัน และมีขนเล็ก ๆสีน้ำตาลอยู่บนใบ ใบยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ส่วนดอกจำปาดะ ลักษณะของดอก ดอกตัวผู้คล้ายทรงกระบอกมีขนาดประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ก้านยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวหรือสีเหลือง ส่วนดอกตัวเมียมีจะขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร และเกสรตัวเมียจะมีขนาด 3-6 เซนติเมตร
ต้นจำปาดะ
  • ผลจำปาดะ ผลคล้ายรูปทรงกระบอก ขนาดตั้งแต่ 20-35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ผลอ่อนจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง ผลอ่อนเปลือกจะแข็งมียางมาก ส่วนผลสุกจะเปลือกนิ่มและมียางน้อยลง เนื้อมีกลิ่นหอมแรงและมีรสชาติหวานจัด โดย 1 ผลจะมีน้ำหนักรวมอยู่ระหว่าง 600-3,500 กรัม แต่ส่วนของเนื้อที่กินได้จะมีน้ำหนักประมาณ 100-1,200 กรัม

ขนุนกับจําปาดะต่างกันอย่างไร

  • ขนาดของผล จำปาดะจะเล็กกว่าขนุน
  • ลักษณะของเปลือก เปลือกนอกจำปาดะเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน
  • เปลือก จำปาดะเปลือกจะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียวงมีใยเหนียวหนืด เป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน
  • เนื้อ จำปาดะจะมีเนื้อนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน
  • เนื้อจำปาดะจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย
  • รสชาติ จำปาดะจะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน
  • กลิ่น จำปาดะกลิ่นจะแรงกว่าขนุน (รุ่นน้องทุเรียนเลยทีเดียว)
Tip วิธีการปอกจำปาดะ วิธีการก็ง่ายแสนง่าย แค่ใช้มีดกรีดจากขั้วลงมาจนสุดผล แล้วก็ใช้มือแบะออก เนื้อจำปาดะก็จะปลิ้นหลุดออกมาทั้งพวงเลย และให้จับที่ขั้วดึงทีเดียวให้เปลือกหลุดออก ก็จะได้ยวงจำปาดะติดกันออกมาเป็นพวงแล้ว

ประโยชน์ของจำปาดะ

  1. ประโยชน์จำปาดะ ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อผลสุก)จำปาดะ สรรพคุณ
  2. จำปาดะมีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี
  3. เปลือกไม้ของจำปาดะมีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้ (เปลือก)
  4. เส้นใยของจำปาดะสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้
  5. ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อผลสุก)
  6. จำปาดะ สรรพคุณช่วยแก้อาการท้องเสีย (เนื้อผลอ่อน)
  7. สรรพคุณของจำปาดะ ช่วยฝาดสมาน (เนื้อผลอ่อน)
  8. เมล็ดจำปาดะช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด)
  9. ในมาเลเซีย มีการใช้รากของจำปาดะเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร
  10. ผลสุกนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ มีรสหวานจัดหอมหวนชุ่มปากชุ่มคอ (บางคนได้กินแล้วหยุดไม่ได้เลยทีเดียว)
  11. สำหรับทางภาคใต้จะนิยมนำไปทำจําปาดะทอด โดยใช้เนื้อพร้อมเมล็ดไปคลุกกับแป้ง น้ำตาล ไข่ นม งา แล้วนำไปทอดน้ำมัน ขอบอกครับว่าอร่อยน่ารับประทานมาก แต่เสียดายหากินยากมาก ๆ
  12. ใช้ทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ เป็นสูตรเดียวกันกับข้าวต้มมัดทั่วไปแต่ต้องแกะเอาเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อมาใช้แทนกล้วย รสชาติหวาน หอมมันเข้มข้นมาก หรือใช้ทำเป็นข้าวตอกน้ำกะทิจำปาดะ แกงบวดจำปาดะ เป็นต้น
  13. เมล็ดใช้ทำเป็นอาหารคาว เช่น นำมาใส่แกงพุงปลา แกงคั่วกะทิ หรือจะรับประทานร่วมกับขนมจีนอร่อยนักแล
  14. จำปาดะ ประโยชน์ผลอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหาร
  15. เมล็ด สามารถนำไปต้มหรือนำไปเผาไฟรับประทานได้ (บางคนนิยมรับประทานเมล็ดมากกว่าเนื้อเสียอีก)
  16. ใบอ่อนจำปาดะใช้เป็นผักจิ้ม หรือใช้รับประทานร่วมกับส้มตำได้
  17. แก่นของต้นจำปาดะนำไปต้มใช้ย้อมสีจีวรพระได้
  18. ลำต้นสามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทำการเกษตร ฯลฯ
ผู้สนับสนุน

คุณค่าทางโภชนาการของจำปาดะ (ผลสุก) ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 116 กิโลแคลอรี่จําปาดะ
  • โปรตีน 3.0 กรัม
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 28.6 กรัม
  • วิตามินเอ 200 หน่วยสากล
  • วิตามินบี1 0 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 20 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : Directorate Nutrition Department of Health (1992)
จําปาดะทอด
แหล่งอ้างอิง : www.gotoknow.com, เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (คุณสุมิตรา จันทร์าเงา), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพประกอบ : คุณกันต์เอง (เว็บสนุกท่องเที่ยว)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม