ปัญหาของระบบเกียร์ธรรมดา

เกียร์


ปัญหาของระบบเกียร์ธรรมดา

ผมทิ้งท้ายไว้ฉบับที่แล้วจะต่อด้วยเรื่องเกียร์ออโต้ แต่มานึกได้ว่าเกียร์ธรรมดาแบบดั้งเดิมยังมีใช้กันอยู่ทั่วไปและแม้ว่าเกียร์ธรรมดาจะดูแลบำรุงรักษาง่ายเมื่อถึงคราวซ่อมก็ซ่อมได้ไม่ยากและราคาไม่แพง แต่ก็มีปัญหาที่ต้องถามไถ่กันบ่อยๆ วันนี้ก็เลยเอาปัญหาเรื่อง

 ถ้าแยกระบบเกียร์ธรรมดาออกเป็นส่วนย่อยก็จะได้เป็นสามส่วนคือชุดคลัตช์ที่มีผ้าคลัตช์ หวีคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์เป็นชุดหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง ชุดที่สองหรือส่วนที่สองก็เป็น ห้องเกียร์ อันเป็นที่รวมชุดเฟืองเกียร์เพื่อทดให้เกิดความเร็วตามที่ต้องการก็จะมีแต่เหล็กล้วนๆ มีแปลกปลอมมาบ้างก็พวกซีลกันน้ำมันและชิ้นส่วนที่ทำด้วยทองเหลือง
  ชุดที่สามได้แก่ ชุดสั่งการก็คือชุดระบบไฮดรอลิกช่วยผ่อนแรงอันมีแม่ปั๊ม (คลัตช์ตัวบน) ลูกปั๊ม (คลัตช์) ตัวล่าง สายอ่อน น้ำมันคลัตช์ (ชนิดเดียวกับน้ำมันเบรก) และแป้นกดคลัตช์
  ปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เกิดกับเกียร์แบบธรรมดาก็ขึ้นอยู่กับส่วนย่อยหรือชุดประกอบทั้งสามส่วนนี้แหละ ถ้าเริ่มกันที่ปัญหาที่เกิดจากตัวเกียร์คือห้องเกียร์ ก็เริ่มจากน้ำมันเกียร์รั่วซึมซึ่งจะเกิดได้สองที่คือที่ซีลหน้าเครื่องและซีลท้ายเครื่อง (ในรถขับเคลื่อนล้อหลัง) หรือซีลของเพลาขับที่เสื้อเกียร์ทั้งซ้ายขวา (ในรถขับหน้า) ถ้าพบว่าซีลรั่วก็ต้องเปลี่ยนซีล สาเหตุของซีลรั่วก็จากการใช้งานเสื่อมสภาพตามอายุที่ใช้ไปแล้ว แต่บางครั้งก็เกิดจากท่อหายใจอุดตัน (Breather) ที่เกิดจากการลุยน้ำลุยโคลนหรือความมักง่ายของช่างที่ให้บริการ
 ในห้องเกียร์ก็เหมือนในห้องเครื่องยนต์เมื่อเกียร์ทำงานจะเกิดความร้อน น้ำมันเกียร์ที่ใช้หล่อลื่นจะเกิดไอน้ำมันที่ต้องระบบออกทางท่อหายใจ ถ้าท่อหายใจตันไอน้ำมันที่มีความร้อนหาทางออกไปข้างนอกไม่ได้ก็จะออกทางซีลกันน้ำมันเราจึงเห็นน้ำมันรั่วหรือซึมเปลี่ยนซีลแล้วก็ต้องตรวจท่อหายใจด้วย
 เกียร์ครางเกียร์ดังเมื่อจอดอยู่กับที่ตำแหน่งเกียร์ว่าง ส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักห้าหมื่นกิโลเมตร ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าดังแบบปกติเพราะเฟืองเกียร์ทำด้วยเหล็กขบกันตลอดเวลา เมื่อแรกเริ่มใช้งานนั้นระยะห่างของเฟืองเกียร์แต่ละตัวจะห่างกันในขนาดเป็นจุดทศนิยมของมิลลิเมตร
 เสียงที่เฟือง (เหล็ก) ขบกันจึงไม่มี เมื่อใช้งานมากขึ้นเหล็กต่อเหล็กกระทบกระทั่งกันตลอดเวลาจึงสึกหรอระยะห่างแรกเริ่มก็ถ่างกว้างออกเหล็กกับเหล็กจึงกระทบกันสีเสียงดัง
 การแก้ไขทำได้ยากเพราะต้องรู้ว่าเฟืองตัวไหนที่ทะเลาะกัน ถ้ารู้ก็เปลี่ยนทั้งคู่ ในทางปฏิบัติแล้วมักจะทำใจดังก็ดัง (วะ) หรือทนไม่ไหวก็ยุบสภา เอ๊ย เปลี่ยนทั้งลูก ก็ไม่ใช่ถูกๆ แต่ถ้าเสียงเกียร์ครางดังขึ้นในรถใหม่ๆ ใช้ไม่ถึงสี่ห้าหมื่นกิโลก็ดังแล้ว บอกได้ว่าเกิดจากสองสาเหตุ
 เหตุแรกเลยก็วัสดุ (เหล็ก) ไม่ดีสึกหรอเร็ว และอย่างที่สองความผิดพลาดจากการประกอบ ขึ้นรูปหรือผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ได้ตามค่ากำหนด ทางแก้ไขคงไม่มี (เพราะคงไม่มีผู้ผลิตรายใดยอมรับว่าตัวเองทำไม่ดี) ก็ต้องทนใช้ต่อไป
  ต่อมาก็เกียร์หลุด เข้าเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่งแล้วเกียร์หลุดมาอยู่ที่เกียร์ว่าง สาเหตุเกิดจากการสึกหรอเสื่อมโทรมของชุดเฟืองเกียร์ชุดนั้น (เกียร์สามหลุดก็ต้องเปลี่ยนชุดเฟืองเกียร์สาม)
ปัญหาต่อมาที่เกิดจากชุดคลัตช์ก็มีตั้งแต่คลัตช์แข็งสาเหตุก็เกิดจากหวีคลัตช์หมดอายุการใช้งานต่อมาก็คลัตช์ลื่น (รถไม่มีแรง) เข้าเกียร์ยาก ออกรถแล้วคลัตช์สั่น อาการที่เกิดขึ้นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดในสาเหตุพวกนี้ก็ต้องยกคลัตช์ หรือเปลี่ยนหวีคลัตช์ ผ้าคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์พร้อมกัน
คลัตช์จม คลัตช์หาย เข้าเกียร์ยาก เกียร์เข้าแล้วปล่อยเท้าจากแป้นคลัตช์นิดเดียวรถก็แทบจะพุ่งไปทิ่มท้ายคันหน้า น้ำมันคลัตช์หาย ก็ต้องเปลี่ยนแม่ปั๊มลูกปั๊ม
ปัญหาอื่นๆ ปลีกย่อยก็เช่นคันเกียร์หลวม ตำแหน่งเกียร์ผิดไปจากเดิม หลงเกียร์ (เข้าได้เป็นบางเกียร์เท่านั้นเข้าแล้วปลดเกียร์ไม่ออก ปัญหาพวกนี้เกิดจากส่วนประกอบภายนอกเช่นบุชขาเกียร์ บุชคันเกียร์บุช (สาย) หรือข้อต่อเกียร์หลุดหลวมแตกหัก ก็ไม่ยากที่จะแก้ไข เสียสตางค์ กันไม่มาก
อย่าลืม เกียร์ธรรมดาหรือในห้องเกียร์ก็ต้องมีน้ำมันเกียร์หล่อลื่นและระบายความร้อนต้องเลือกชนิดของน้ำมันเกียร์ให้ถูกรุ่นถูกยี่ห้อแล้วเปลี่ยนถ่ายตามคู่มือถ้าไม่มีคู่มือก็สักประมาณสี่หมื่นกิโลเมตรเปลี่ยนทิ้งได้เลย เรื่องเกียร์ธรรมดาก็มีแค่นี้ ต่อไปก็เกียร์ออโต้คงว่ากันยืดยาวเอากันตั้งการใช้การดูแลบำรุงรักษาและหาสาเหตุด้วยตัวเองก่อนที่จะไปให้ช่างฟัน

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม