แครนเบอร์รี่ สรรพคุณประโยชน์ของแครนเบอรี่ 24 ข้อ ! (Cranberry)

แครนเบอร์รี่ สรรพคุณประโยชน์ของแครนเบอรี่ 24 ข้อ ! (Cranberry)

แครนเบอร์รี่
ผู้สนับสนุน 

แครนเบอร์รี่

แครนเบอร์รี่ ภาษาอังกฤษCranberry จัดอยู่ในวงศ์ ERICACEAE[1]
แครนเบอร์รี่ จัดเป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย นิยมปลูกเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอเมริกา ผลแครนเบอร์รี่เป็นผลสีแดงสด มีรสเปรี้ยวหวาน[3]

สรรพคุณของแครนเบอร์รี่

  1. ช่วยป้องกันโรคเหงือก[2]
  2. ช่วยรักษาแผลในช่องท้อง[2]
  3. ช่วยรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อในท่อปัสสาวะ ขจัดกลิ่นปัสสาวะได้ดี (บ้างว่าใช้แก้อาการปวดปัสสาวะแบบกระปริบกระปอยได้ด้วย)[2]
  4. ช่วยรักษาและป้องกันโรคที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ระบุว่า การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 30 ml. จะช่วยลดจำนวนของแบคทีเรียในปัสสาวะลง และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะได้ดี เพราะผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย[2]
  5. ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli)[2] โดยมีรายงานว่าผู้หญิงที่ได้รับสารสกัดจากแครนเบอร์รี่อย่างต่อเนื่อง จะช่วยยับยั้งการยึดเกาะตัวของเชื้ออีโคไลได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.0001) เมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ได้รับสารสกัดจากผลแครนเบอร์รี่[5]
  6. ด้วยความเป็นกรดอ่อน ๆ ของผลแครนเบอร์รี่ จึงสามารถช่วยยับยั้ง ป้องกัน และรักษาการเกิดนิ่วในไตได้[2],[3] การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ 500 มิลลิกรัม แล้วดื่มน้ำตาลอีก 1,500 มิลลิลิตร สามารถช่วยป้องกันการตกตะกอนของ Calcium oxalate ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของนิ่วในไตได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว[7]
  7. ช่วยทำให้ร่างกายสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้หลังเกิดอาการชัก[2]
Cranberry

ประโยชน์ของแครนเบอร์รี่

  1. แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน สามารถนำมาบริโภคได้ทั้งในรูปของผลสด ผลตากแห้ง น้ำคั้น หรือจะนำไปทำเป็นเครื่องดื่มประเภทสมูทตี้ผลไม้ก็ได้ ด้วยการนำส้มคั้นลูกขนาดกลาง 1 ลูก เกรปฟรุต 1/2 ลูกคั้นเอาแต่น้ำใส่ลงในเครื่องปั่น แล้วเติมผลแครนเบอร์รี่ 2 กำมือ และกล้วยอีก 1 ผลลงไป ปั่นจนเข้ากัน แล้วนำมาดื่ม จะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้[3]
  2. แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินซีสูง และยังประกอบไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Catechins, Quinic acid, Hippuric acid, Proanthocyanidins, Triterpenoids, และ Tannin จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม[2]
  3. เนื่องจากแครนเบอร์รี่มีวิตามินซีสูง จึงช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่มากับอากาศหนาวได้ดี[2]
  4. ช่วยป้องกันมะเร็งและต้านการก่อกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกาย[2] มีรายงานทางการแพทย์มากมายเกี่ยวกับการบริโภคแครนเบอร์รี่ว่าสามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมากและอื่น ๆ ได้อีกมากมาย[4] โดยสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Proanthocyanidins) จะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสาร Proanthocyanidins สามารถยับยั้งกลไกการเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหลายกลไก และพบว่าเป็นตัวเลือดที่ดีที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งต่อไป[14]และยังมีผลในการทำลายเซลล์มะเร็งรังไข่ได้ โดยสาร Proanthocyanidins จะเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตายลง หรือเมื่อร่วมกับยารักษามะเร็งรังไข่ ก็จะไปช่วยเสริมฤทธิ์ยาในการลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง[15] การรับประทานแครนเบอร์รี่สามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลองได้[3] Proanthocyanidins ที่พบได้มากในผลแครนเบอร์รี่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนมะเร็งและนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งปอด[13]
  5. สาร Proanthocyanidins ในผลแครนเบอร์รี่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[2] แครนเบอร์รี่ประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Anthocyanin, Flavonoids, Proanthocyanidins) โดยที่ Flavonoids จะไปยับบั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันเลว (LDL) ทำให้ป้องกันเกิด Oxidized LDL ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบและอุดตันได้[8]
  6. ช่วยลดไขมันเลว (LDL) ในเลือด ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย[2] สารต้านอนุมูลอิสระจากผลแครนเบอร์รี่สามารถเหนี่ยวนำให้ตัวรับไขมันเลว (LDL) ที่ตับทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้เพิ่มการขับออกของไขมันเลวจากระบบไหลเวียนของเลือด และเพิ่มการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ตับเพื่อขับออกได้ จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลได้[9]
  7. การรับประทานแครนเบอร์รี่เป็นประจำสามารถช่วยต่อต้านอาการป่วยเรื้อรังของสมองได้[2]
  8. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต[2]
  9. แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีนแครนเบอรี่ (Lutein & Zeaxanthin) ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา ช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายจ่อดวงตา ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย ช่วยกรองแสงสีน้ำเงินที่ทำลายดวงตา และช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคต้อกระจุก และโรคจอตาเสื่อมได้
  10. สาร Proanthocyanidins ที่ได้จากน้ำแครนเบอร์รี่เข้มข้น สามารถช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่สร้างมาจากเซลล์ gingival fibroblasts ได้ เช่น interieukin (IL-6,IL-8) และ PGE(2) ในโรคปริทันต์ จึงส่งผลให้สามารถช่วยลดขบวนการอักเสบได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี ที่จะสามารถพัฒนาเป็นสารช่วยในการรักษาโรคปริทันต์ (Perlodontitis) ต่อไป[10]
  11. น้ำแครนเบอร์รี่มีส่วนประกอบของ High molecular weight non-dialyzable material ที่สามารถช่วยยับยั้งการยึดเกาะและการรวมตัวกันของแบคทีเรียในช่องปากได้หลายชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางช่องปาก การเกิดคราบหินปูน และจุลินทรีย์บนผิวฟัน และยังช่วยลดอาการฟันผุ และป้องกันโรคเหงือกอักเสบได้อีกด้วย[11]
  12. การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 250 มิลลิลิตร ร่วมกับการได้รับยาฆ่าเชื้อในกระเพาะอาหาร จะสามารถเพิ่มอัตราการฆ่าเชื้อได้สูงขึ้นในเพศหญิงที่ติดเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในกระเพาะอาหาร[12]
  13. แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้จากธรรมชาติที่สามารถป้องกันและต่อสู้กับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารปัสสาวะได้ดีที่สุด โดยแครนเบอร์รี่นั้นได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการในเภสัชตำรับของสหรัฐอเมริกา (U.S. Pharmacopeia) ให้เป็นยาที่ใช้รักษาปัญหาเหล่านี้อย่างได้ผล (แต่ยังมีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการเพียงไม่กี่คนว่า แครนเบอร์รี่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อตาย หรือเพียงแต่ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเกาะกับผนังของกระเพาะปัสสาวะ) คนที่เป็นโรคนี้ถ้าดื่มน้ำแครนเบอร์รี่เข้มข้น (ไม่ผสมน้ำตาล) วันละ 300 ml. ทุกวัน จะชวยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้อีก ซึ่งจากการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์กับผลการรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าแครนเบอร์รี่สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้สูงถึง 50% นอกจากนี้แครนเบอร์รี่ยังสามารถช่วยป้องกันการยึดเกาะของแบคทีเรียกับเนื้อเยื่อในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เองผลไม้ชนิดนี้จึงถูกนำไปใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงการเกิดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน[1],[2]
  14. การรับประทานสารสกัดจากแครนเบอร์รี่ในขนาด 500 มิลลิกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับยา Trimethoprim ในการป้องกันการเป็นซ้ำของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ พบว่าสารสกัดจากแครนเบอร์รี่สามารถป้องกันได้ แต่จะได้ผลน้อยกว่ายา Trimethoprim อย่างไรก็ตามผู้ป่วยให้การยอมรับสารสกัดจากแครนเบอร์รี่มากกว่า Trimethoprim เนื่องจากแครนเบอร์รี่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ให้ผลข้างเคียงต่ำกว่าในการทำให้เชื้อดื้อยา และการเกิดติดเชื้อรา และ Clostridium difucile ซ้ำซ้อน อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าด้วย[6]
  15. วิตามินซีในแครนเบอร์รี่จะช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น เกลี้ยงเกลา ผิวมีสุขภาพที่ดีขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูคอลลาเจน[2]
  16. ผลแครนเบอร์รี่สามารถนำไปทำเป็นลิปมัน เพื่อใช้ป้องกันริมฝีปากแห้งแตกในช่วงฤดูหยาวได้ โดยใช้ผลแครนเบอร์รี่ 10 ผล นำมาผสมกับน้ำมันสวีทอัลมอนด์ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง ช้อนชา และน้ำมันวิตามินอี 1 หยด นำไปต้มจนเดือด แล้วนำส่วนผสมที่ได้ไปบดให้เอียดผ่านกระชอน เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาทาปากเวลาปากแห้ง (ข้อมูลจากกระปุก)
  17. ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแครนเบอร์รี่มีวางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำผลไม้ แครนเบอร์รี่อบแห้ง ซอส แยม โยเกิร์ต อาหารเสริมทั้งในรูปแบบชงและแบบแคปซูล และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลไม้แครนเบอร์รี่ไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ จึงสามารถรับประทานได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ซึ่งในวงการแพทย์ต่างก็ให้การยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าแครนเบอร์รี่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของน้ำผลไม้สด สารสกัดแบบบรรจุแคปซูล แบบชงดื่ม ต่างก็มีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะภายในช่องท้องของสตรี ที่มักประสบปัญหาการอักเสบขึ้นภายในและการอั้นปัสสาวะ เมื่อได้รับประทานอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นผลดีขึ้น[2]
ผู้สนับสนุน

คุณค่าทางโภชชนาการของแครนเบอร์รี่ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 46 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 12.2 กรัม
  • น้ำตาล 4.04 กรัม
  • ใยอาหาร 4.6 กรัม
  • ไขมัน 0.13 กรัมน้ำแครนเบอร์รี่
  • โปรตีน 0.39 กรัม
  • น้ำ 87.13 กรัม
  • วิตามินเอ 3 ไมโครกรัม (0%)
  • เบต้าแคโรทีน 36 ไมโครกรัม (0%)
  • ลูทีน และ ซีแซนทีน 91 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี1 0.012 มิลลิกรัม (1%)
  • วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม (2%)
  • วิตามินบี3 0.101 มิลลิกรัม (1%)
  • วิตามินบี5 0.295 มิลลิกรัม (6%)
  • วิตามินบี6 0.057 มิลลิกรัม (4%)
  • วิตามินบี9 1 ไมโครกรัม (0%)
  • วิตามินซี 13.3 มิลลิกรัม (16%)
  • วิตามินอี 1.2 มิลลิกรัม (8%)
  • วิตามินเค 5.1 ไมโครกรัม (5%)
  • แคลเซียม 8 มิลลิกรัม (1%)
  • ธาตุเหล็ก 0.25 มิลลิกรัม (2%)
  • แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม (2%)
  • แมงกานีส 0.36 มิลลิกรัม (17%)
  • ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม (2%)
  • โพแทสเซียม 85 มิลลิกรัม (2%)
  • โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
  • สังกะสี 0.1 มิลลิกรัม (1%)
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำในรับประทานแครนเบอร์รี่

  • แครนเบอร์รี่ในรูปของแคปซูลนั้นมีขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือ 1 แคปซูล วันละ 1-3 เวลา[1]
  • น้ำแครนเบอร์รี่สำเร็จรูปที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปนั้นจะมีรสหวานมาก และผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว จึงไม่แนะนำให้รับประทาน (เพราะต้องระวังในเรื่องของปริมาณน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนและเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน) แต่ควรเลือกรับประทานน้ำแครนเบอร์รี่สดไม่เจือปนจะให้ผลดีในการรักษามากกว่า (แต่ถ้ามีรสฝาดมากก็ให้หาน้ำแอปเปิ้ลมาผสมแครนเบอร์รี่ที่มีจำหน่ายตามร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะได้ผล แต่คุณก็ไม่ควรเป็นแบบที่มีการเติมน้ำตาลลงไป)[1],[3]
  • การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไปในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจากมีรายงานว่า การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่มากกว่าวันละ 1,420 มิลลิลิตร จะมีผลทำให้มีโอกาสเลือดออกภายในได้ แต่การดื่มแต่น้อยนั้นจะไม่มีอันตราย เพราะมีรายงานสนับสนุนว่าการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่วันละ 240 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ในผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดไม่พบว่ามีอันตรายจากภาวะเลือดออกภายในแต่อย่างใด[16]
References
  1. หนังสือวิตามินไบเบิล.  (ดร.เอิร์ล มินเดลล์).  “แครนเบอร์รี่ (Cranberry)”.  หน้า 245.
  2. THE CRANBERRY INSTITUTE.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.cranberryinstitute.org.  [05 ส.ค. 2014].
  3. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ).  “แครนเบอร์รี่ดีกับสุขภาพจริงหรือ?”.
  4. J. Nutr. “Cranberry and Its Phytochemicals: A Review of In Vitro Anticancer Studies.” (Catherine C. Neto)
  5. Int J Immunopathol Pharmacol. “Inhibitory activity of cranberry extract on the bacterial adhesiveness in the urine of women: an ex-vivo study.” (Tempera G, Corsello S, Genovese C, Caruso FE, Nicolosi D.)
  6. J Antimicrob Chemother. “Cranberry or trimethoprim for the prevention of recurrent urinary tract infections? A randomized controlled trial in older women.” (McMurdo ME, Argo I, Phillips G, Daly F, Davey P.)
  7. BJU Int. “Influence of cranberry juice on the urinary risk factors for calcium oxalate kidney stone formation.” (McHarg T, Rodgers A, Charlton K.)
  8. Life Sci. “Cranberries inhibit LDL oxidation and induce LDL receptor expression in hepatocytes.” (Chu YF, Liu RH.)
  9. J Indian Soc Periodontol. “Inhibitory effect of cranberry juice on the colonization of Streptococci species: An in vitro study.” (Sethi R, Govila V.)
  10. Eur J Oral Sci. “Cranberry components inhibit interleukin-6, interleukin-8, and prostaglandin E production by lipopolysaccharide-activated gingival fibroblasts.” (Bodet C, Chandad F, Grenier D.)
  11. J Antimicrob Chemother. “Effect of a high-molecular-weight component of cranberry on constituents of dental biofilm.” (Steinberg D, Feldman M, Ofek I, Weiss EI.)
  12. Mol Nutr Food Res. “Effect of cranberry juice on eradication of Helicobacter pylori in patients treated with antibiotics and a proton pump inhibitor.” (Shmuely H, Yahav J, Samra Z, Chodick G, Koren R, Niv Y, Ofek I.)
  13. Molecules. “Cranberry proanthocyanidins mediate growth arrest of lung cancer cells through modulation of gene expression and rapid induction of apoptosis.” (Laura A. Kresty, Amy B. Howell, Maureen Baird)
  14. Nutr Cancer. “North American cranberry (Vaccinium macrocarpon) stimulates apoptotic pathways in DU145 human prostate cancer cells in vitro.” (MacLean MA, Scott BE, Deziel BA, Nunnelley MC, Liberty AM, Gottschall-Pass KT, Neto CC, Hurta RA.)
  15. Phytother Res. “Cranberry proanthocyanidins are cytotoxic to human cancer cells and sensitize platinum-resistant ovarian cancer cells to paraplatin.” (Singh AP, Singh RK, Kim KK, Satyan KS, Nussbaum R, Torres M, Brard L, Vorsa N.)
  16. .Br J Clin Pharmacol. “Effect of high-dose cranberry juice on the pharmacodynamics of warfarin in patients.” (Mellen CK, Ford M, Rindone JP.)
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by KLnyc)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม