ละมุด สรรพคุณและประโยชน์ของละมุด 8 ข้อ !
ละมุด สรรพคุณและประโยชน์ของละมุด 8 ข้อ !
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
ละมุด
ละมุด ชื่อสามัญ Sapodilla
ละมุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Manilkara zapota (L.) P.Royen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manilkara achras (Mill.) Fosberg) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)
ละมุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละมุดฝรั่ง (ภาคกลาง), ชวานิลอ (ปัตตานี,มลายู ยะลา), สวา เป็นต้น
ลักษณะของละมุด
- ต้นละมุด มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแถว ๆ ประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง และอินเดียตะวันตก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง พุ่มทึบ มีกิ่งก้านแตกออกเป็นชั้น ๆ รอบ ๆ ลำต้น ในบ้านเราแหล่งที่ปลูกละมุดในบ้านเราก็ที่ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยสายพันธุ์ละมุดที่นิยมปลูกนั้นก็จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด นั้นก็คือ ละมุดไทย (ละมุดสีดา) และ ละมุดฝรั่ง
- ใบละมุด ใบเป็นใบเดี่ยว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ท้องใบมีสีน้ำตาลอมเขียว
- ดอกละมุด ลักษณะของดอกละมุดเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามง่ามกิ่ง มีกลีบรองดอกเรียงกัน 2 ชั้น กลีบดอกจะเชื่อมกันและยกตั้งขึ้นมี 6 กลีบ มีสีเหลืองนวล
- ผลละมุด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ หรือมีปลายแหลม ผิวมีสีน้ำตาล ผลดิบจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ในยางมีสารที่ชื่อว่า “Gutto” รสฝาด แข็ง ส่วนผลสุกจะนิ่ม มีรสหวานไม่มียาง ข้างในผลมีเมล็ดรูปยาวรี สีดำฝังอยู่ในเนื้อ ใน 1 ผลจะมีประเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด
ประโยชน์ของละมุด
- ละมุดมีวิตามินซีสูงจึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรค และช่วยป้องกันหวัดได้
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
- การรับประทานละมุดจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- เปลือกของลำต้นละมุด นำมาต้มปรุงเป็นยาแก้บิด (ประเทศฟิลิปปินส์)
- ยางใช้เป็นยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง
- ละมุดเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยมาก จึงช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำไวน์ หรือนำมาทำน้ำละมุด
- ยางที่มีสีขาวทุกส่วนของลำต้น สามารถนำไปใช้ทำหมากฝรั่งและรองเท้าบูทได้
ผู้สนับสนุน
คุณค่าทางโภชนาการของละมุด ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 83 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 19.96 กรัม
- เส้นใย 5.3 กรัม
- ไขมัน 1.1 กรัม
- โปรตีน 0.44 กรัม
- วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี3 0.2 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี5 0.252 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี6 0.037 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี9 14 ไมโครกรัม 4%
- วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม 18%
- ธาตุแคลเซียม 21 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโพแทสเซียม 193 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโซเดียม 12 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
วิธีทำน้ำละมุด
- วัตถุดิบที่ต้องเตรียมมีดังนี้ เนื้อละมุด 1 ถ้วย, เกลือป่น 1/4 ช้อนชา, น้ำแข็งทุบ 1 แก้ว, น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- นำผลละมุดมาปลอกเปลือกและเอาเมล็ดออก เอาแต่เนื้อแล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่น
- หลังจากนั้นให้เติมเกลือ น้ำเปล่า และน้ำแข็งลงไปตามลำดับ
- ปั่นจนละเอียดให้เนื้อเข้ากัน
- นำมารินใส่แก้วเป็นอันเสร็จ ก็จะได้น้ำละมุดปั่นแบบเย็นชื่นใจช่วยดับกระหายได้ทันที
ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรปริโภคเพียงเล็กน้อยและนานครั้ง ๆ และไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานละมุดโดยลำพัง หากต้องการให้เด็กรับประทานควรเอาเมล็ดออกก่อนพร้อมหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆพอคำที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเมล็ดของละมุดมีความลื่นและมีโอกาสจะหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ฟันยังขึ้นไม่ครบ ก็ควรจะบดให้ละเอียด และไม่ควรป้อนอาหารด้วยความรีบร้อน เพราะเด็กอาจจะสำลักติดคอได้
เคล็ดลับการเลือกซื้อละมุด อย่างแรกก็ให้ลองจับที่ผิวเบา ๆ ถ้าผิวไม่นุ่มมากก็ใช้ได้ ลักษณะภายนอกของผลผิวดูเกลี้ยงกลม มีสีน้ำตาลเป็นธรรมชาติและขั้วไม่หัก ก็จะได้ละมุดคุณภาพดี ๆแล้ว
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, USDA National Nutrient Database for Standard References
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น