มะตาด สรรพคุณและประโยชน์ของมะตาด 25 ข้อ !
มะตาด สรรพคุณและประโยชน์ของมะตาด 25 ข้อ !
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
มะตาด
มะตาด ชื่อสามัญ Chulta, Chalta, Ouu, Elephant Apple
มะตาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia indica L. จัดอยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE)
สมุนไพรมะตาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มปรุ ส้านกวาง ส้านท่า ส้านป้าว ส้านปรุ ส้านใหญ่ (เชียงใหม่), แส้น (นครศรีธรรมราช, ตรัง), สั้น บักสั้นใหญ่ (อีสาน), แอปเปิ้ลมอญ, ส้านมะตาด, ไม้ส้านหลวง (ไทใหญ่), ตึครือเหมาะ(กะเหรี่ยงแดง), ลำส้าน(ลั้วะ), เปียวกับ (เมี่ยน) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คาบสมุทรมลายู ไทย ลาว พม่า และอินโดจีน[1],[2],[3],[4],[5]
ลักษณะของมะตาด
- ต้นมะตาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นไม้มะตาดเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี ในประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในป่าพรุ ป่าดิบชื้น และริมแม่น้ำลำธาร[1]
- ใบมะตาด ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับถี่ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปไข่กลับ ใบมีความกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ส่วนโคนใบเรียวสอบแคบและมน แผ่นใบหนา ใบเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบที่แยกขนานออกจากเส้นใบไปขอบใบ ขอบใบเป็นหยักและฟันเลื่อย มีหนามเล็ก ๆ อยู่ที่ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบ ส่วนท้องใบจะเห็นเส้นแขนงและมีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบตรงประมาณ 30-40 คู่ และก้านใบมีความประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นร่อง โคนก้านใบแบนและเป็นกาบห่อหุ้มกิ่ง[1],[3]
- ดอกมะตาด ดอกมีขาวนวลและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกเดี่ยว ๆ บริเวณง่ามใบและกิ่งบริเวณใกล้ปลาย ก้านก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีขนสากมือ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายช้อน มีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับบาง มีความกว้างประมาณ 15-18 เซนติเมตร กลีบดอกจะร่วงได้ง่ายเมื่อดอกบาน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่จำนวนมากล้อมรอบเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะมีสีขาว ยอดเกสรตัวเมียจะแยกออกเป็นแฉก ๆ รังไข่มี 20 ช่อง เมื่อดอกตูมในระยะแรกจะมีลักษณะคล้ายกับผลมะตาด และเมื่อดอกมีขนาดเท่าผลมะนาวก็จะบานออก และเมื่อดอกบานและได้รับการผสมแล้ว กลีบเลี้ยงจะเริ่มห่อหุ้มเข้ามาใหม่จนมีลักษณะเป็นผลกลม ๆ เมื่อเกาะอัดแน่นและเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นผลมะตาด[1],[3]
- ผลมะตาด หรือ ลูกมะตาด ผลเป็นผลเดี่ยวสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมใหญ่อวบ ซึ่งเป็นกาบที่เกิดขึ้นมาจากกลีบเลี้ยงที่อัดกันแน่นและแข็ง มีความกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะมีเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ผลมีกลิ่นเฉพาะตัว มีเมือกเหนียวและมีรสเปรี้ยวอมฝาด และในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล มีความกว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร เมล็ดมีเมือกห่อหุ้ม และเมื่อแก่จัดเมล็ดจากสีน้ำตาลเข้มไปจนเกือบดำ โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[3]
มะตาด แยกเป็นชนิดย่อยได้อีก คือ มะตาดข้าวเหนียว และมะตาดข้าวเจ้า ซึ่งแบ่งตามรสสัมผัสของเนื้อผล โดยผลมะตาดที่นิยมใช้คือมะตาดข้าวเหนียว เพราะมีเนื้อที่เหนียวนุ่มกว่ามะตาดข้าวเจ้า[5]
สรรพคุณของมะตาด
- ผลมะตาดมีสารฟลาโวนอยด์และสารฟินอลิก ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมลอิสระ (ผล)[1]
- ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)[2],[3]
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ผลสุก มีรสหวานอมเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาเย็น (ผลสุก)[2],[3],[4]
- ช่วยต้านอาการลมชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ช่วยถอนพิษไข้ ระบายพิษไข้ (ใบ,เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ (ผล,ใบ,เปลือกต้น)[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการไอ (ผลสุก)[1],[3],[4]
- ช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)[1],[3],[4]
- เปลือกต้นนำมาเคี้ยวช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่น (เปลือกต้น)[7]
- ใบและเปลือกต้น มีรสฝาดใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ,เปลือกต้น)[2],[4],[7]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ผล)[1],[2],[3]
- ผลมีเมือกเหนียวคล้ายวุ้น มีสรรพคุณช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ (เมือกผล)[1],[7]
- ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น ทำให้ท้องไม่ผูก (ผล)[1],[7]
- ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผล,ใบ,เปลือกต้น)[1],[2],[3]
- เปลือกและใบมีรสฝาด ใช้เป็นยาสมานแผล (ใบ,เปลือกต้น)[1]
- รากมะตาด สรรพคุณใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[1]
ผู้สนับสนุน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะตาด
- สารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบมะตาด ด้วยตัวทำละลาย คือ Ethanol 95 % และ Acetone จากการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารสกัดหยาบของมะตาด พบว่าสารสกัดหยาบจากผลเทียมที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดจากใบที่สกัดด้วย Acetone นั้นมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดหยาบจากใบที่สกัดด้วย Ethanol 95 % ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด และจากการทดสอบผลของอุณหภูมิและระยะเวลาต่อความเสถียรของสารสกัดหยาบจากมะตาดต่อการเจริญของเชื้อ Bacillus cereus โดยพบว่าสารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบที่เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุด รองลงมาคือ 4 องศาเซลเซียส, 60 องศาเซลเซียส, และ 100 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ส่วนผลของระยะเวลาพบว่าในระยะเวลาตั้งแต่ 0, 2, 4 และ 6 สัปดาห์ ที่สารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบยังคงเสถียรต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย[2]
- สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ กดระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยต้านการอักเสบ[5]
ประโยชน์ของมะตาด
- ผลมะตาดใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ นำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อรับประทานมาตั้งแต่โบราณ เช่น การทำเป็นแกงส้มมะตาด แกงคั่วมะตาด หรือนำไปทำอาหารอื่น ๆ[1]หรือใช้ผลสดจิ้มกินกับน้ำพริก[3] กลีบชั้นในที่มีลักษณะอวบอุ้มน้ำ ใช้จิ้มกับเกลือกินได้ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอม[7]
- เมล็ดมะตาดที่แก่แล้ว สามารถนำมารับประทานสดได้ (มีรสชาติมัน)[5],[6]
- คนไทยโบราณนิยมปลูกต้นมะตาดไว้ในสวนบริเวณบ้าน หรือปลูกในพื้นที่กลางแจ้งและมีเนื้อที่มากพอกสมควร เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น เพราะใบมะตาดมีใบขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่หนาแน่น จึงสามารถช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับบรรยากาศ จึงช่วยลดโลกร้อนไปได้ในด้วย และที่สำคัญยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกที่มีความโดดเด่นสวยงาม และมีเส้นใบเป็นริ้วที่ดูสวยงามแปลกตา[1],[2],[5]
- เนื้อไม้ของต้นมะตาด สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตร หรือทำเครื่องเรือน ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ทำเสาบ้าน หรือทำเป็นพานท้ายปืน และใช้ทำเป็นฟืน[1],[3]
- เปลือกและผลของมะตาด สามารถนำใช้ในการย้อมหนังสัตว์ และทำหมึกได้[6]
- จากภูมิปัญญาของชาวรามัญได้นำเปลือกด้านในของผลมะตาด มาใช้ทาท้องเรือ เพื่อทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้น เพราะเมือกมะตาดนั้นจะช่วยลดความเสียดทานของท้องเรือกับผิวน้ำได้[7]
- น้ำยางจากผลดิบนำมาใช้สระผมได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้คิดค้นและดันแปลงแปรรูปผลมะตาดทำเป็นผลิตภัณฑ์สระผม[1],[3]
- เมือกที่ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผมและช่วยปกป้องเส้นผมจากแสงแดดและมลพิษได้ ด้วยการนำเมล็ดมะตาดที่มีเมือกผสมกับน้ำ 4-5 เท่า แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาให้สนิท เขย่าแรง ๆ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอน แล้วใช้น้ำที่ได้นี้นำมาหมักเส้นผมประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็สระผมตามปกติ[5]
References
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา . “มะตาด“. (รศ.ชนะ วันหนุน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 158.108.70.5 (www.kus.ku.ac.th). [8 ธ.ค. 2013].
- การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “มะตาด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/. [8 ธ.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะตาด, ส้านใหญ่“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [8 ธ.ค. 2013].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “มะตาด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [8 ธ.ค. 2013].
- กรุงเทพธุรกิจ. “เมล็ดมะตาด บำรุงเส้นผม“. (ผศ.ดร.ไชยยง รุจจนเวท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [8 ธ.ค. 2013].
- คมชัดลึกออนไลน์. “มะตาด เมล็ดกินได้“. (นายสวีสอ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [8 ธ.ค. 2013].
- สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย. “การถนอมแปรรูปผลมะตาดเพื่อการถนอมอาหารและอนุรักษ์พืชพื้นบ้าน“. (วศินา จันทรศิริ, สุมาลี สุนทรนฤรังสี, นงนุช กัณฑานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nutritionthailand.or.th. [8 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Fruit Species, 3Point141, *omnia*, Prometheus-BD (Back & Catching UP), Mamatha Rao, Shubhada Nikharge, Ahmad Fuad Morad, Teo Siyang, Tony Rodd, Tatters:), tamkw525, bikashdas)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น