ตาว ต๋าว ประโยชน์ของต้นตาว 13 ข้อ ! (ต้นชิด,ต้นชก,ลูกชิด,ลูกชก)

ตาว ต๋าว ประโยชน์ของต้นตาว 13 ข้อ ! (ต้นชิด,ต้นชก,ลูกชิด,ลูกชก)

ลูกชิด
ผู้สนับสนุน 

ตาว

ตาว ชื่อสามัญSugar palm, Aren, Arenga Palm, Areng palm, Black-fiber palm, Gomuti Palm, Kaong, Irok
ตาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Arenga pinnata (Wurmb) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[5]
ต้นตาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตาว ชิด (ภาคกลาง), ตาว ต๋าว มะต๋าว (ภาคเหนือ), ฉก ชก ต้นชก (ภาคใต้), เตาเกียด เต่าเกียด (กาญจนบุรี), โตะ (ตราด), กาชก (ชุมพร), ฉก (พังงา, ภูเก็ต), ลังค่าย หลังค่าย (ปัตตานี), โยก (สตูล), เนา (ตรัง), ต่าว (เมี่ยน, ขมุ, ไทลื้อ, คนเมือง), ต๋งล้าง (ม้ง), วู้ (กะเหรี่ยง), ต่ะดึ๊ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หมึ่กล่าง (ลั้วะ) เป็นต้น ส่วนผลของชิดอาจเรียกว่า ลูกชิด (กาญจนบุรี), ลูกตาว (อุตรดิตถ์), ลูกต๋าว (น่าน), ลูกเหนา(ภาคใต้), ลูกชก เป็นต้น โดยต้นตาวจัดเป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว อินโดนีเซีย และอินเดีย สำหรับในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นตามป่าในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ และตาก และในปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก สาเหตุมาจากการที่ป่าถูกทำลายและไม่มีการปลูกเพื่อทดทน[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7],[8],[9]

ลักษณะของต้นตาว

  • ต้นตาว (ต้นชิดต้นชก) จัดเป็นไม้อยู่ต้นแบบต้นเดี่ยวที่มีอายุยืน ลักษณะลำต้นตรงสูงชะลูด มีหลายขนาด มีความสูงประมาณ 6-15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางต้นราว 30-65 เซนติเมตร ลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ เป็นพืชขนาดใหญ่ที่อยู่ในตระกูลปาล์ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด มักพบขึ้นตามป่าที่มีความชื้นสูง หรือตามริมแม่น้ำลำธาร หรือตามโขดหิน[1],[4],[5],[8] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าต้นตาวมักขึ้นตามเชิงเขาในบริเวณที่มีดินร่วนและมีอากาศชุ่มชื้น[3] ส่วนรากตาว มีระบบรากเป็นแบบรากฝอย รากจะเจริญออกจากใต้ดิน[5]
ต้นตาวต้นชิด
  • ใบตาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ก้านทางใบยาวประมาณ 6-10 เมตร มีใบย่อยประมาณ 30-130 ใบ ใบมีลักษณะเช่นเดียวกับใบมะพร้าว แต่จะใหญ่และแข็งกว่า โดยใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนและแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเรียบ ผิวใบหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้มมันวาว ส่วนใต้ใบมีสีขาวนวล[1],[3],[5] เมื่อใบแก่จะห้อยจนปิดคลุมลำต้น[4]
ใบตาว
  • ดอกตาว ออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อดอกเชิงลดขนาดใหญ่ โดยดอกของต้นตาวจะเป็นดอกชนิด Polgamous คือมีทั้งดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อดอก และสามารถออกดอกได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต (ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนออกดอกประมาณ 15-20 ปี) โดยช่อดอกตัวผู้จะยาวประมาณ 1-2 เมตร ส่วนช่อดอกสมบูรณ์เพศจะยาวกกว่าดอกตัวผู้ โดยออกดอกตามซอกใบห้อยยาวลงได้มากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ออกดอกจนเป็นผลสุกแก่จนร่วงหล่น อาจจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี[1],[4]
ดอกชิด
ดอกตาวดอกชก
  • ผลตาว ออกผลเป็นกลุ่มเป็นทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปไข่สีเขียว มีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่มีสีเหลืองและสีดำ หรือมีสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ ส่วนเมล็ดมีสีขาวขุ่น มีลักษณะนิ่มและอ่อน ในแต่ละผลจะมี 2-3 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว ส่วนเมล็ดแก่มีสีดำ เปลือกของเมล็ดจะกลายเป็นกะลาบาง ๆ แข็ง ๆ มีสีดำ ส่วนเนื้อในของเมล็ดจะเรียกว่า “ลูกชิด” โดยต้นตาวจะให้ผลในช่วงอายุ 15-20 ปี แต่ส่วนมากแล้วจะให้ผลครั้งเดียว และจะให้มากที่สุดไม่เกิน 4 ครั้ง[1],[3],[4],[5]
ลูกชกลูกต๋าว
ตาว

ประโยชน์ของตาว

  1. หน่ออ่อนและเนื้อในเมล็ดสามารถนำมารับประทานได้[1] นอกจากนี้หน่ออ่อนและเนื้อข้างในลำต้น ก็สามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น การทำเป็นแกง หรือใส่ข้าวเบือน เป็นต้น[1]
  2. เนื้อในเมล็ด หรือ ลูกชิด สามารถนำมารับประทานสด ๆ ได้เลย หรือนำไปต้ม หรือนำมาเชื่อมกับน้ำตาลรับประทานเป็นของหวานได้[1],[3]
  3. ยอดอ่อนใช้นึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปแกงได้[1] นอกจากนี้ยอดอ่อนที่ขั้วหัวใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำไปดองเปรี้ยวเก็บไว้ใช้แกงส้ม หรือทำแกงกะทิ[3]
  4. ยอดของลำต้น สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว[8]
  5. ใบอ่อน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม เช่นเดียวกับกะหล่ำปลี[8]
  6. แกนในของลำต้นอ่อน ใช้ประกอบอาหารได้ เช่น ทำเป็นแกงใส่ไก่หรือหมู เป็นต้น[1]
  7. งวงตาวหรือดอกตาว สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำตาลชก คล้ายกับน้ำตาลโตนดได้[6] ก้านช่อดอกมีน้ำหวาน อาจนำใช้ทำเป็นไวน์ผลไม้หรือน้ำส้มได้[8]
  8. น้ำหวานที่ได้จากผล สามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับน้ำตาลโตนด และยังนำไปทำน้ำส้มที่เรียกว่า “น้ำส้มชุก” สำหรับใช้ในการปรุงอาหาร หรือทำกระแช่ หรือเอาส่วนที่เคี่ยวเป็น “น้ำผึ้งชุก” ไปหมักสำหรับทำสุรา[9]
  9. ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้ทำเป็นอุปกรณ์การเกษตรได้ ส่วนลำต้นในระยะที่เริ่มออกดอกจะแป้งสะสมอยู่ภายใน สามารถนำแป้งมาใช้ประโยชน์ได้[8]
  10. ใบตาวแก่ สามารถนำมาใช้มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ตกแต่งงานรื่นเริงในหมู่บ้าน หรือนำมาใช้จักสาตะกร้า ส่วนใบอ่อนนำมาใช้ทำเป็นมวนบุหรี่ ส่วนก้านใบเมื่อนำมาเหลารวมกันทำเป็นไม้กวาด และทางก้านใบนำมาใช้ทำฟืนสำหรับก่อไฟ[3],[6],[8]
  11. ก้านทางใบ สามารถนำมาผลิตไฟเบอร์ แต่ในบางครั้งอาจรากนำมาทำไฟเบอร์ก็ได้ แต่ไฟเบอร์ที่สำคัญนั้นจะทำมาจากลำต้น ซึ่งจะมีความยาวและมีสีเทาดำ ในอินโดนีเซียจะนำไปทำเป็นเชือกสำหรับใช้กับเรือประมง ฯลฯ[8]
  12. เส้นใยจากลำต้น สามารถนำมาใช้ทำเป็นแปรงได้[3],[6]
  13. ประโยชน์ของลูกชิด สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นลูกชิดแช่อิ่ม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง ลูกชิดอบแห้ง[7]
ผู้สนับสนุน

คุณค่าทางโภชนาการของลูกชิด ต่อ 100 กรัมก

  • พลังงาน 19 กิโลแคลอรี่ลักษณะต้นตาว
  • คาร์โบไฮเดรต 4.9 กรัม
  • โปรตีน 0.1 กรัม
  • เส้นใย 0.5 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • น้ำ 94.7 กรัม
  • วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3 0.01 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 21 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 3 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[9]

พิษของตาว

  • ผิวของเปลือกเมล็ดมีพิษอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังได้ หากใช้กรรมวิธีที่ไม่ถูกต้องในการแกะ[4] ก่อนการนำมารับประทานควรนำไปต้มก่อนแล้วค่อยผ่าเพื่อแคะเอาเนื้อออกมา[6]
  • ขนตามผิวของผลตาว รวมไปถึงน้ำเลี้ยงจากเปลือกผล ทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนังอย่างรุนแรงได้[5]
ลูกตาว
References
  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [1 พ.ย. 2013].
  2. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  3. หนังสือ 108 ซองคำถาม เล่ม 2.  (ประวิทย์ สุวณิชย์).
  4. ฐานข้อมูลการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โครงการสำรวจพันธุกรรมพืชชิด (Arenga pinnata.) ในจังหวัดน่าน“.  (อนุชา จันทรบูรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kucon.lib.ku.ac.th.  [1 พ.ย. 2013].
  5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th.  [1 พ.ย. 2013].
  6. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [1 พ.ย. 2013].
  7. มติชนออนไลน์. “ต๋าวพืชเฉพาะถิ่นนครน่าน หนึ่งของดีแปรรูปได้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th.  [1 พ.ย. 2013].
  8. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [1 พ.ย. 2013].
  9. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “ผักพื้นบ้าน ลูกชิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th.  [1 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Gilio Giacomozzi, biisced, camhoa102, Ahmad Fuad Morad, AiNuN MaRdiAh, Xylopia), www.bloggang.com (by Insignia_Museum)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม