สารภี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสารภี 28 ข้อ !

สารภี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสารภี 28 ข้อ !

สารภี
ผู้สนับสนุน 

สารภี

สารภี ชื่อสามัญNegkassar[7]
สารภี ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis T.Anderson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calysaccion siamense Miq.)[5],[6],[7] จัดอยู่ในวงศ์ CALOPHYLLACEAE
สมุนไพรสารภี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารภีแนน (เชียงใหม่), ทรพี สารพี (จันทบุรี), สร้อยพี (ภาคใต้) เป็นต้น[3],[4],[6],[9]โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า ไทย อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย[6]

ลักษณะของต้นสารภี

  • ต้นสารภี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาลถึงดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดทั่วลำต้น เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดง มียางสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง ถี่และสม่ำเสมอ แข็ง และค่อนข้างทนทาน สามารถเลื่อย ผ่าและไสกบตบแต่งได้ง่าย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรและที่กลางแจ้ง ปลูกได้ในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร[1],[2],[4],[7]
ต้นสารภีสารพี
  • ใบสารภี มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ๆ บางทีอาจมีติ่งสั้น ๆ หรือหยักเว้าแบบตื้น ๆ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบจะสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาและค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงของใบไม่มี แต่เห็นเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]
ใบสารภี
  • ดอกสารภี ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวน 2 ปลาย หลอดรังไข่แยกเป็นแฉก 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[4]
ดอกสารพี
ดอกสารภี
  • ผลสารภี ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือกลมรี ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลนิ่ม ผลเมื่อแก่จะแตกออกได้ และมีเมล็ดเดียว โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[4]
ผลสารภี
ลูกสารภี

สรรพคุณของสารภี

  1. ดอกมีรสหอมเห็น ส่วนผลมีรสหวาน มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก,ผลสุก)[1],[2],[5],[10]
  2. ผลสุกใช้รับประทาน มีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือด (ผลสุก)[5]
  3. ช่วยทำให้ชื่นใจ (เกสร)[1],[2]
  4. ดอกสารภี สรรพคุณช่วยบำรุงเส้นประสาท (ดอก)[4],[10]
  5. ดอกใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง (ดอก)[2],[10]
  6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก)[2],[10]
  7. ช่วยรักษาธาตุไม่ปกติ (ดอก)[1],[2]
  8. สารภี สรรพคุณของดอกช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)[2],[10]
  9. เกสรมีรสหอมเย็น สรรพคุณใช้เป็นยาแก้ไข้ (เกสร)[1],[2]
  10. ช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน (ดอก)[2]
  11. ช่วยแก้ลมวิงเวียน มีอาการหน้ามืดตาลาย (ดอก)[4],[10]
  12. ดอกมีฤทธิ์ขับลม (ดอก)[1],[2]
  13. ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ)[6]
  14. ยางไม้ของต้นสารภี นำมาใช้แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย หรือจากน้ำลายของหอยบางชนิด (ยาง)[12]
  15. ใช้เป็นฝาดสมาน (ดอก)[1],[2]
  16. ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ (ใบ)[6]
  17. ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (เกสร)[1],[2]
  18. ดอกใช้ผสมในยาหอมมีสรรพคุณช่วยแก้อาการร้อนใน แก้ลม วิงเวียน แก้โลหิตพิการ โลหิตเป็นพิษ ช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท ชูกำลัง และช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน (ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[6]
  19. ดอกสารภีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (เพิ่มดอกกระดังงา ดอกจำปา), และในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (เพิ่มดอกลำดวน ดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด แก้อาการหน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ แก้โรคตา แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี[10],[11]
ผู้สนับสนุน

ประโยชน์ของสารภี

  1. ผลสารภีมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังเป็นอาหารของนกได้อีกด้วย[4]
  2. นอกจากจะใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น[12]
  3. ดอกตูมของสารภี ใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง[5]
  4. ต้นสารภีมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและบังลมได้ อีกทั้งยังมีดอกและพุ่มใบที่สวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย
  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นสารภีไว้ประจำบ้านจะส่งผลให้มีอายุยืนยาวเหมือนเช่นต้นสารภี เพื่อความเป็นสิริมงคลผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาคุณ ให้ปลูกในวันเสาร์) และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรีเนื่องจากเป็นสารภีเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสตรี[8],[9]
  6. ดอกแห้งใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอม สำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์[10]
  7. ดอกสดสามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง[6]
  8. เนื้อไม้สารภี มีความแข็งแรงและค่อนข้างทนทาน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด ตง กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ฯลฯ[4],[12]
สารภีแนน
References
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “สารภี“.  หน้าที่ 181.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สารภี (Saraphi)“.  หน้าที่ 301.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิล).  “สารภี“.  หน้าที่ 136.
  4. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [11 ม.ค. 2014].
  5. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [11 ม.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [11 ม.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ดอกสารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.198.146.  [11 ม.ค. 2014].
  8. ไม้ประดับออนไลน์ดอทคอม ศูนย์ไม้ดอกไม้ประดับออนไลน์.  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.maipradabonline.com.  [11 ม.ค. 2014].
  9. อุทยานดอกไม้ ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [11 ม.ค. 2014].
  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 361 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “สารภี“.  (ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [11 ม.ค. 2014].
  11. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [11 ม.ค. 2014].
  12. พืชกรณีศึกษา งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนตาลชุมพิทยาคม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน.  “สารภี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.slideshare.net/n_putthima/sarapee-presentation.  [11 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm, b. inxee♪♫, Doksarapee), www.www.sns.ac.th, www.www.sc.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม