จาก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจาก 14 ข้อ ! (ลูกจาก)

จาก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจาก 14 ข้อ ! (ลูกจาก)

จาก
ผู้สนับสนุน 

จาก

จาก ชื่อสามัญ Nypa, Atap palm, Nipa palm, Mangrove palm
จาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Nypa fruticans Wurmb จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
จาก มีชื่อเรียกอื่นว่า อัตต๊ะ[1],[3],[4]

ลักษณะของต้นจาก

  • ต้นจาก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย จัดเป็นปาล์มแตกกอจากลำต้นใต้ดินหรือลำต้นที่เลื้อยไปบนดิน โดยโผล่ก้านใบและตัวใบขึ้นมาอยู่เหนือดิน ลำต้นจะแตกแขนงอยู่ใต้ดินทำให้ขึ้นเป็นก่อ ๆ และหลายทอด ต้นจากมีความสูงประมาณ 3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว มีอินทรียวัตถุสูง และมีน้ำท่วมขัง ชอบแสงแดดจัด[1],[2]
ต้นจาก
  • ใบจาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ปลายใบลักษณะเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม (ลักษณะคล้ายใบมะพร้าว) และเป็นรูปรางน้ำคว่ำ ที่ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างมีสีนวล ส่วนกาบใบใหญ่ห่อโคนต้น ก้านใบที่แตกใหม่จะเป็นสีม่วงแดง[1],[2] ส่วนโคนใบจะมีกะเปาะอากาศ เป็นตัวช่วยพยุงให้ใบชูขึ้นเหมือนชูชีพ ส่วนกาบใบนี้บางครั้งจะเรียกว่า “พอนใบ” ส่วนช่อดอกที่แทงออกมาเรียกว่า “นกจาก[4]
ใบจาก
  • ดอกจาก ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นระหว่างกาบใบ ดอกเป็นรูปกลม ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกจะชูตั้งขึ้นและโค้งลง มีความยาวประมาณ 25-65 เซนติเมตร ออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[4]
ดอกจาก
  • ผลจาก ผลเอยู่รวมกันเป็นช่อ มีผลย่อยอยู่เป็นจำนวนมากเป็นกระจุกเรียกว่า “โหม่งจาก” ลักษณะของผลเป็นรูปทรงไข่กลับ (คล้ายกับผลระกำ แต่ไม่มีหนาม) แบนและนูนตรงกลาง ผลมีสีน้ำตาลเรียบเป็นมัน มีความกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.5-7.5 เซนติเมตร ผลมีสันแหลมหรือมีร่องผลประมาณ 9-10 ร่อง ข้างในมีเนื้อเมล็ดสีขาว มีปริมาณของเนื้อไม่มากนัก และใช้รับประทานได้ มีรสชาติคล้ายกับลูกตาลสด ภายในผลมีเมล็ดเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีขาว[1],[2],[4]
โหม่งจาก
โหม่งจาก
ผลจาก
ผลจาก
ลูกจาก กับ ลูกชิด จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยลูกจากจะมาจากต้นจาก ส่วนลูกชิดจะมาจากต้นตาว ซึ่งทั้งต้นจากและต้นตาวนั้นจัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน เลยทำให้คิดไปว่าจากกับชิดคือพืชชนิดเดียวกัน หรือมักจะสับสนแล้วเรียกชื่อสลับกัน (กาพย์เห่เรือ ในรัชกาลที่ 2)

สรรพคุณของจาก

  1. ใบจากนำมาใช้ต้มดื่มแก้แก้อาการท้องร่วงได้ (ใบ)[4]
  2. กลีบดอกของดอกจาก สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของชาสมุนไพรได้ (กลีบดอก)[4]
ผู้สนับสนุน

ประโยชน์ของจาก

  1. ประโยชน์ของต้นจากลูกจาก นิยมใช้ปลูกเพื่อประดับริมน้ำกร่อย หรือริมทะเล หรือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวกับลม เพื่อช่วยลดเสียงรบกวน ส่วนผลมีลักษณะที่สวยงาม ใช้ปลูกเป็นไม้กระถางประดับได้เช่นกัน[1]
  2. หากย้อนไปเมื่อสมัยก่อนนั้นการปลูกจากนั้นยังถือเป็นการจับจองที่ดิน หากใครปลูกในบริเวณไหนก็จะถือว่าเป็นที่ดินของคนนั้น ซึ่งปลูกโดยวิธีการลงแขก ผู้ที่ไปช่วยปลูกจะเป็นพยานในการจับจองที่ดินด้วย[3]
  3. ประโยชน์ต้นจากที่เหลือใช้ สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้[4]
  4. ประโยชน์ของลูกจากอ่อน หรือ ผลอ่อน สามารถนำมาไปแกงทำเป็นอาหาร ต้มกินกับน้ำพริก ใช้เป็นผักเหนาะน้ำพริก กินร่วมกับแกงไตปลา ทำเป็นแกงกะทิ ฯลฯ หรือหากปล่อยให้อ่อนพอเหมาะ หรือลูกจากหนุ่มก็ผ่าเอาเมล็ดมารับประทานสดเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาลอยแก้ว หรือใช้เชื่อมรับประทานเป็นขนมหวานหรือทานร่วมกับไอศกรีมก็อร่อยไม่ใช่น้อย[1],[2],[3]
  5. ผลจากที่สุกแล้วจะมีเนื้อเยื่อสีขาวและใส นุ่มมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นของหวาน หรือที่เรียกว่า “ลูกจากเชื่อม”[4]
  6. ผลอ่อนที่แตกหน่อ จะมีจาวจากอยู่ข้างใน สามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวเหมือนจาวมะพร้าวและจาวตาล[4]
  7. น้ำหวานของต้นจาก (ปลายช่อดอก) หรือที่เรียกว่า “น้ำตาลจาก” มีรสชาติเหมือนกับน้ำตาลโตนด และยังสามารถนำไปเคี่ยวเพื่อทำเป็น “น้ำผึ้งจาก” ได้ด้วยและจะได้ “น้ำตาลปึก” เมื่อเคี่ยวต่อไปก็จะได้เป็น “ตังเม” ซึ่งเป็นขนมที่เด็กจะชอบกันมากหรือจะนำไปหมักเพื่อเป็น “น้ำส้มจาก” ก็ได้เช่นกัน โดยน้ำส้มจากเมื่อนำไปหมักผสมกับอาหารกุ้งก็จะช่วยทำให้น้ำในบ่อกุ้งไม่เน่าเสียอีกด้วย และยังใช้น้ำส้มจากเพื่อนำไปทำเป็น “น้ำตาลเมา” ก็ได้[3]
  8. งวงจากหนุ่ม สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กวาด หรือทำเป็นแส้สำหรับปัดแมลงได้ หรือทำชดหรือแปรงล้างกระบอกตาลตอนทำน้ำตาลจาก[3]
  9. ขนมจากใบจากสามารถนำมาใช้ห่อขนมจาก ใช้ทำแมงดากันฝน ทำเป็นของเล่นหรือลูกโตน ส่วนใบแก่จะเย็บเป็นตับจากแล้วนำมาใช้มุงหลังคาหรือใช้กั้นฝาบ้านได้ หรือทำกระแชงที่มีลักษณะคล้ายกับเต็นท์ แถมยังกันความร้อนได้ดีกว่าเต็นท์อีกด้วย หรือนำมาทำเป็นเพิงสำหรับอาศัยพักผ่อนของชาวไร่ชาวสวน ใช้ทำเป็นหมวกที่เรียกว่า “เปี้ยว” หรือจะใช้กันแดดกันฝนบนเรือแจวก็ได้ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทำฝาชีสำหรับครอบกับข้าว หรือทำเป็นฝาซึงสำหรับนึ่งอาหาร เพราะใบจากจะทนทานต่อความร้อนได้ดี เปรียบเสมือนกันความร้อน ส่วนก้านใบที่ลิดใบแล้วใช้ทำไม้กวาดและทำเสวียนหม้อได้[1],[3],[4]
  10. ใบอ่อนที่เพิ่งแตกยอดใช้ทำมวนบุหรี่สูบ ทำเสวียนหม้อ ตอกบิด ห่อขนมจาก นอกจากนี้ยังใช้ทำที่ตักน้ำที่เรียกว่า “หมาจาก” สำหรับใช้วิดน้ำในเรือได้ แถมยังดีกว่าหมาวิดน้ำแบบอื่น ๆ เพราะหมาจากนั้นไม่กินเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม่มีเสีย เรือไม่ทะลุ[3],[4]
  11. พอนจาก หรือ ปงจาก ใช้ทำเป็นทุ่นสำหรับเกาะตอนว่ายน้ำเพื่อไม่ให้จม หรือนำไปทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น ทำเป็นดาบ ปืน เรือ ฯลฯ นอกจากนี้ส่วนที่เหนือขึ้นไปเล็กน้อยของพอนจากก็สามารถนำมาตัดทำเป็นไม้ดอกตีเงี่ยงปลาสำหรับชาวประมงได้ด้วย (โดยเลือกตัดเอาเฉพาะพอนจากที่มีขนาดพอดีมือ)[3] หรือนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงก็ได้[4]
  12. ทางจาก สามารถนำมาทำปลอกสำหรับแจวเรือได้ โดยมีข้อดีกว่าปลอกแจวแบบเป็นเชือกไนลอนคือจะมีความเหนียวกว่า แต่ก็มีข้อเสียคือไม่ทนทานเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ยังใช้ทำตับจากได้อีก แต่นำมาใช้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่แข็งแรง และชาวประมงก็ยังส่วนของทางจากแก่นำมาทำเป็นตะแกรงสำหรับย่างปลาอีกด้วย[3]
References
  1. ข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [1 พ.ย. 2013].
  2. ฐานข้อมูลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.  “ต้นจาก“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th.  [1 พ.ย. 2013].
  3. สำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี.  “ต้นจากมากประโยชน์“.  (พัณณิกา วัฒโน (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร)).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: phunphin.suratthani.doae.go.th.  [1 พ.ย. 2013].
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [1 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by jsigharas, kaixiang, Russell Cumming, Lauren Gutierrez, palms r cool, wildsingapore, camillenoir)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม