ขนุน สรรพคุณและประโยชน์ของขนุน 32 ข้อ !

ขนุน สรรพคุณและประโยชน์ของขนุน 32 ข้อ !

ขนุน
ผู้สนับสนุน 

ขนุน

ขนุน ชื่อสามัญ Jackfruit, Jakfruit
ขนุน ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
ผลไม้ขนุน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะนู (จันทบุรี), นะยวยซะ (กาญจนบุรี), เนน (นครราชสีมา), ซีคึย ปะหน่อย หมากกลาง(แม่ฮ่องสอน), นากอ (ปัตตานี), มะหนุน (ภาคเหนือ ภาคใต้), ลาน ล้าง (ภาคเหนือ), หมักหมี้ (ตะวันอองเฉียงเหนือ) และชื่ออื่น ๆ เช่น ขะเนอ, ขนู,นากอ, มะยวยซะ, Jack Fruit Tree เป็นต้น

ลักษณะของขนุน

  • ต้นขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 15-30 เมตร กิ่งและลำต้นเมื่อมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ลักษณะของใบขนุน เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปรี ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ใบหนา ผิวด้านบนของใบจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างจะสากมือ ใบขนุนกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
  • ดอกขนุน ออกเป็นช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน เป็นช่อสีเขียว อัดกันแน่นและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ซึ่งเราจะเรียกว่า “ส่า” ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และลำต้น เมื่อติดผลดอกทั้งช่อจะเจริญร่วมกันเป็นผลรวมมีขนาดใหญ่ โดย 1 ดอกจะกลายเป็น 1 ยวง
สรรพคุณขนุนขนุนสรรพคุณสรรพคุณของขนุน
  • ผลขนุน หรือ ลูกขนุน ลักษณะภายนอกจะคล้าย ๆ จำปาดะ (ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกัน) โดยลักษณะของลูกขนุน ในผลดิบเปลือกมีสีขาว หนามทู่ ถ้ากรีดจะมียางเหนียว ถ้าแก่เปลือกจะมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองและหนามจะป้านขึ้นด้วย ภายในผลของขนุนจะมีซังขนุนหุ้มยวงสีเหลองไว้ โดยเมล็ดจะอยู่ในยวง โดยดอกขนุนจะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม และในช่วงธันวาคม-มกราคม
ประโยชน์ของขนุนประโยชน์ขนุนรูปขนุน
พันธุ์ขนุน มีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งสีของเนื้อก็แตกต่างกันออกไปด้วยตามแต่ละสายพันธุ์ ขนุนบางสายพันธุ์มีรสหวานใช้รับประทานได้ แต่บางพันธุ์มีรสจืดไม่นิยมนำมารับประทาน โดยสายพันธุ์ขนุนที่นิยมปลูกในประเทศไทย ก็ได้แก่ พันธุ์ตาบ๊วย (ผลใหญ่ เนื้อหนา สีจำปาออกเหลือง), พันธุ์ทองสุดใจ (ผลใหญ่ยาว เนื้อเหลือง), พันธุ์ฟ้าถล่ม (ผลค่อนข้างกลมและใหญ่มาก มีเนื้อสีเหลืองทอง), พันธุ์จำปากรอบ (ผลขนาดกลาง รสหวานอมเปรี้ยวเนื้อสีเหลือง) เป็นต้น
ต้นขนุนจัด เป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลของไทย โดยไม้ขนุน มีความหมายว่า การช่วยหนุนบารมี เงินทอง ความร่ำรวย ให้ดียิ่งขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุนจุนเจือ โดยนิยมปลูกไว้หลังบ้าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
นอกจากขนุนจะเป็นไม้มงคลนามแล้ว ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อยอีกด้วย และยังนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนุนหรือรับประทานแต่น้อยเพราะมีรสหวาน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆได้แก่ ใบ ยวง เมล็ด แก่น ส่าแห้งของขนุน

สรรพคุณของขนุน

  1. ช่วยบำรุงโลหิต ทำให้เลือดเย็น (แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด,ราก,แก่น)
  2. ขนุนสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง ชูหัวใจให้สดชื่น (เนื้อหุ้มเมล็ดสุก,เนื้อในเมล็ด,ผลสุก,เมล็ด)
  3. ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
  4. ขนุนหนัง เป็นผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงติด 10 อันดับแรกของผลไม้ และยังมีวิตามินซีสูงช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  5. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผลสุก)
  6. ขนุน ประโยชน์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยมีผลงานวิจัยของประเทศศรีลังกา ที่ได้ทำการทดลองในผู้ป่วยเบาหวานและในหนูทดลอง ซึ่งผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลการทดลองยังได้ทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งก็คือยา Tolbutamide และได้ผลสรุปว่าสารสกัดจากขนุนสามารถช่วยระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายา Tolbutamide ภายในเวลา 5 ชม. สำหรับวิธีนำมาปรุงเป็นยาก็ง่าย ๆเพียงแค่ ใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ นำมาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนานประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น (ใบ)
  7. ช่วยระงับประสาท (ใบ)
  8. ช่วยแก้โรคลมชัก (ใบ)
  9. ใบขนุนละมุด นำไปเผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู และเป็นหูน้ำหนวก (ใบขนุนละมุด)
  10. ใบขนุนใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ใบ,ราก)
  11. สรรพคุณของขนุน เมล็ดช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ดขนุน)
  12. สรรพคุณขนุนใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อหุ้มเมล็ด,ผลสุก)
  13. ช่วยสมานลำไส้ (แก่น)
  14. เม็ดขนุน มีสารพรีไบโอติกหรือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่ทนต่อการย่อยที่กระเพาะอาหารและการดูดซึมของลำไส้เล็กตอนบน ซึ่งช่วยดูซึมแร่ธาตุอย่างแคลเซียม เหล็ก สร้างสารป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคแต่อย่างใด (เมล็ด)
  15. ไส้ในของขนุนละมุด ใช้รับประทานช่วยแก้อาการตกเลือดในทวารเบาของสตรีที่มีมากไปให้หยุดได้ (ไส้ในขนุน)
  16. แก่นและเนื้อไม้ของต้นขนุน นำมาใช้รับประทานช่วยแก้กามโรค (แก่นและเนื้อไม้)
  17. ช่วยขับพยาธิ (ใบ)
  18. ใช้แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ (ใบ,ราก)
  19. ช่วยรักษาแผลมีหนองเรื้อรัง (ยาง,ใบ)
  20. ช่วยสมานแผล (แก่น)
  21. ใช้ทาแผลบวมอักเสบ (ยาง)
  22. ช่วยแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ที่เกิดจากแผลมีหนองที่ผิวหนัง (ยาง)
  23. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยในการจับกลุ่มอสุจิ เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย สารในของเหลวของร่างกาย ช่วยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว
ผู้สนับสนุน

ประโยชน์ของขนุน

  1. สรรพคุณของขนุนเม็ดขนุน ช่วยบำรุงน้ำนม ขับน้ำนม ทำให้น้ำนมของแม่เพิ่มมากขึ้น (เม็ดขนุน)
  2. ใช้หมักทำเหล้า (เนื้อหุ้มเมล็ดสุก)
  3. ช่วยแก้อาการเมาสุรา (ผลสุก)
  4. แก่นของต้นขนุน นำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลแก่ นิยมนำมาใช้ย้อมสีจีวรพระ
  5. ส่าแห้งของ นำมาใช้ทำเป็นชุดจุดไฟได้
  6. เนื้อไม้ของต้นขนุนสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดนตรีได้
  7. เมล็ดและยวงสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้
  8. เนื้อขนุนสุกรับประทานเป็นผลไม้ และนำมาทำเป็นขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม ลอดช่อง กินกับข้าวเหนียวมูน นำไปอบแห้ง
  9. ขนุนอ่อนนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานเป็นผัก เช่น ใส่ในส้มตำ ตำมะหนุน แกงขนุน ยำ ขนุนอบกรอบ เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อขนุนดิบ ต่อ 100 กรัม

  • ขนุนพลังงาน 95 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 23.25 กรัม
  • น้ำตาล 19.08 กรัม
  • เส้นใย 1.5 กรัม
  • ไขมัน 0.64 กรัม
  • โปรตีน 1.72 กรัม
  • วิตามินเอ 5 ไมโครกรัม 1%
  • เบต้าแคโรทีน 61 ไมโครกรัม 1%
  • ลูทีน และ ซีแซนทีน 157 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี1 0.105 มิลลิกรัม 9%
  • วิตามินบี2 0.055 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี3 0.92 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี5 0.235 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี6 0.329 มิลลิกรัม 25%
  • วิตามินบี9 24 ไมโครกรัม 6%
  • วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม 17%
  • วิตามินอี 0.34 มิลลิกรัม 2%
  • ต้นขนุนธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุเหล็ก 0.23 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุแมกนีเซียม 29 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุแมงกานีส 0.043 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุโพแทสเซียม 448 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.13 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), หนังสือเภสัชกรรมไทยฯร่วมอนุรักษ์มรดกไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน (เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม