กระเบา สรรพคุณและประโยชน์ของกระเบาใหญ่ 22 ข้อ ! (กระเบาน้ำ)

กระเบา สรรพคุณและประโยชน์ของกระเบาใหญ่ 22 ข้อ ! (กระเบาน้ำ)

กระเบา
ผู้สนับสนุน 

กระเบา

กระเบา ชื่อสามัญChaulmoogra[3]
กระเบา ชื่อวิทยาศาสตร์Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness.[1] ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE
สมุนไพรกระเบา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระเบา กระเบาน้ำกระเบาข้าวแข็ง กระเบาข้าวเหนียว กระตงดง(เชียงใหม่), ดงกะเปา (ลำปาง), กระเบาใหญ่(นครราชสีมา), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), เบา(สุราษฎร์ธานี), กุลา กาหลง (ปัตตานี), มะกูลอ (ภาคเหนือ),กระเบาเบ้าแข็ง กระเบาใหญ่ กาหลง แก้วกาหลง (ภาคกลาง), เบา (ภาคใต้), กระเบาตึก (เขมร), ตัวโฮ่งจี๊ (จีน), ต้าเฟิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4],[5],[6]

ลักษณะของต้นกระเบา

  • ต้นกระเบา มีถิ่นกำเนิดในเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร รูปทรงสูงโปร่ง ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคตามป่าดิบ และตามป่าบุ่งป่าทาม ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 30-1,300 เมตร[1],[2],[4],[6],[7],[11]
ต้นกระเบากระเบาใหญ่
  • ใบกระเบา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปรียาวแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบไม่ลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบทึบแข็งมีลักษณะกรอบ มีเส้นใบประมาณ 8-10 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นลายร่างแหมองเห็นได้ชัดเจน ใบอ่อนเป็นสีชมพูแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร[1],[2],[4],[11]
ใบกระเบา
  • ดอกกระเบา ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ต้นตัวผู้จะเรียกว่า “แก้วกาหลง” ส่วนต้นตัวเมียจะเรียกว่า “กระเบา[10] ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ บ้างว่าออกดอกเป็นช่อมีสีขาวนวล ในช่อหนึ่งมีประมาณ 5-10 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมฉุน มีเกสรเพศผู้ 5 อัน[4] ดอกเพสผู้เป็นสีชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ และมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ มีขน ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้[1],[2],[5] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[6],[11] บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน[7] (ภาพแรก คือ ดอกเพศผู้ (แก้วกาหลง), ส่วนภาพสอง คือ ดอกเพศเมีย (กระเบา))
แก้วกาหลงดอกกระเบา
  • ผลกระเบา ผลใหญ่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร เปลือกผลหนาแข็งเป็นสีน้ำตาล ผิวผลมีขนคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เนื้อในผลเป็นสีขาวอมเหลือง ข้างในผลมีเมล็ดสีดำอันกันแน่นรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 30-50 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือรูปไข่เบี้ยว ปลายมนทั้งสองข้าง กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.9 เซนติเมตร[1],[2],[4],[11] โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน และจะเป็นผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคม[6],[11]
ผลกระเบา

สรรพคุณของกระเบา

  1. ผลใช้รักษามะเร็ง (ผล)[1],[2]
  2. เมล็ดมีรสเผ็ดร้อนและขม ใช้เป็นยาร้อน มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต ใช้เป็นยาขับลม ขับพิษ (เมล็ด)[4]
  3. ช่วยดับพิษทั้งปวง (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
  4. ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
  5. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[11]
  6. รากและเนื้อไม้มีรสเบื่อเมา ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนังต่าง ๆ (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
  7. ช่วยรักษาบาดแผล (รากและเนื้อไม้)[1],[2]
  8. ช่วยแก้พิษบาดแผลสด (ใบ)[2]
  9. ใบมีรสเบื่อเบา ใช้ฆ่าพยาธิบาดแผล (ใบ)[1],[2]
  10. ใบใช้แก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1],[2] ส่วนเมล็ดก็ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยแก้หิดได้อีกด้วย (เมล็ด)[4]
  11. ผลและเมล็ดมีรสเมาเบื่อมัน ใช้แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ (ผล,เมล็ด)[1],[2] ตำรายาไทยใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดเพื่อรักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ (เมล็ด)[3] หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-10 เมล็ด นำมาแกะเปลือกออก แล้วนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืชลงไปพอควรและคลุกให้เข้ากัน จากนั้นก็นำมาใช้ทาแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)[4]
  12. ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเรื้อน (ผล)[1],[2] ส่วนตำรายาไทยระบุว่าใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดในการรักษาโรคเรื้อน (เมล็ด)[3] หรือจะใช้น้ำมันจากเมล็ด 3 มล., น้ำ 160 มล., น้ำนมอุ่น 30 มล., น้ำเชื่อม 40 มล. แล้วนำทั้งหมดมาผสมกัน ใช้กินหลังอาหารวันละ 3 เวลา จะช่วยแก้โรคเรื้อนได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[4]
  13. เมล็ดนำมาหุงเป็นน้ำมันทาภายนอก ใช้สำหรับทาผมและรักษาโรคผมร่วง (เมล็ด)[1],[2]
  14. ใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)[5],[7]
  15. ใช้ปรุงเป็นยารักษาอีสุกอีใส ด้วยการใช้กระเบา 50 กรัม และกระเทียม 20 กรัม นำมาตำผสมกับน้ำ 100 cc. แล้วนำมาต้มให้เดือดนาน 5 นาที แล้วนำมาใช้ทาแผลตามร่างกาย ซึ่งจากการทดลองในคนไข้จำนวน 50 คน และใช้ทาเพียงครั้งเดียวพบว่าคนไข้ทั้งหมดมีอาการที่ดีขึ้น (เข้าใจว่าใช้ส่วนของเมล็ด)[4]
ผู้สนับสนุน

ข้อควรรู้และข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระเบา

  • กระเบามีฤทธิ์กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ยับยั้งมะเร็ง ยับยั้งมดลูกบีบตัว ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร แก้ไข้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ คล้ายกล้ามเนื้อเรียบ รักษาวัณโรค รักษาโรคเรื้อน ทำให้อักเสบ[11]
  • เมล็ดและใบสดมีสาร Hydrocyanic acid ส่วนเมล็ดมีน้ำมันระเหยประมาณ 20-25% มีน้ำมันทีเป็น Glycerides oil ของ Chaulmoogric acid, Cyclopentenylglycine, Hydnocarpic acid, Alepric acid, Aleprolic acid และ Aleprylic acid, Gorlic acid.[4]
  • มีรายงานวิจัยระบุว่าน้ำมันที่บีบจากเมล็ดกระเบาโดยไม่ใช้ความร้อน จะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคเรื้อนและวัณโรค[3]
  • น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิไส้เดือน กระตุ้นการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง[8]
  • น้ำมันจากเมล็ดกระเบาในสมัยก่อน สามารถนำมาใช้รักษาโรคเรื้อนได้ดีนานพอควร และยังใช้รักษาเชื้อราของโรคผิวหนังต่าง ๆ ไดอีกด้วย[4]
  • การใช้สาร Hydnocarpic acid จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนได้มากกว่าสาร Chaulmoograte และหากนำมาใช้ร่วมกับ Chaulmoograte จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนได้ดีกว่า[4]
  • พิษเฉียบพลันของเมล็ดกระเบา เมื่อนำเมล็ดมาต้มน้ำหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์แล้วนำไปฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะรู้สึกปวดแสบมาก และยังทำให้เซลล์กล้ามเนื้อตายด้านอย่างเฉียบพลันอีกด้วย ถ้าหากนำมารับประทานมากเกินไป จะทำให้มีอาการอาเจียนปวดท้อง ปวดลำไส้ ทำให้ไตอักเสบ ปัสสาวะมีโปรตีน และปัสสาวะเป็นเลือด[4]
  • น้ำมันจากเมล็ดใช้ฉีดเข้าในผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ซึมผ่านแผล (Direct infusion) ในครั้งแรกให้ใช้ 0.5 มล. ต่อมาให้ใช้ 1 มล. อาทิตย์ละครั้ง, ใช้ฉีดน้ำมันใส่ผม จะช่วยรักษาผิวหนังบนศีรษะ รักษาคุดทะราด และยังใช้เป็นยาแก้มะเร็ง[4]
  • ใบและเมล็ดกระเบาเป็นพิษ (มีสาร Cyanogenetic glycoside)[5]
  • เมล็ดกระเบาส่วนมากจะนำมาใช้เป็นยาภายนอก ถ้าหากต้องการใช้ผสมกับตำราอื่นเพื่อรับประทาน จะต้องมีวิธีการกำจัดพิษในเมล็ดก่อนที่จะนำมาใช้ได้ และห้ามรับประทานเกินจากที่กำหนด[4]

ประโยชน์ของกระเบา

  1. ผลแก่สุก ใช้รับประทานแต่เนื้อในเป็นอาหารได้ เนื้อนุ่ม มีรสหวานมันคล้ายกับเผือกต้ม[5],[6]
  2. ผลเป็นอาหารของลิงและปลามีรสชาติมัน และมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต แป้ง และน้ำตาล[9],[11]
  3. น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงเป็นน้ำมันสำหรับใส่ผมเพื่อรักษาโรคบนหนังศีรษะได้[5]
  4. น้ำมันจากเมล็ดกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) สามารถนำไปดัดแปลงทางเคมีเพื่อใช้เป็นยาทาภายนอก ยาฉีด หรือยารับประทาน เพื่อใช้บำบัดโรคผิวหนังและช่วยฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดี เช่น การนำไปใช้บำบัดโรคเรื้อน โรคเรื้อนกวาง หิด คุดทะราด โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัวทุกชนิด รวมไปถึงการนำไปใช้รักษามะเร็งได้อีกด้วย[5]
  5. ชาวพิจิตรจะใช้เมล็ดกระเบานำมาตำให้ละเอียดให้สุนัขกลืนแบบดิบ ๆ จะช่วยทำให้สุนัขที่เป็นโรคเรื้อนหายเป็นปกติได้จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา (เมล็ดกระเบามีฤทธิ์ทำให้เมาได้ ต้องใช้แต่น้อย)[6]
  6. เนื้อไม้กระเบามีสีแดงแกมสีน้ำตาลเมื่อตัดใหม่ และนานไปจะเป็นสีน้ำตาลอมสีเทา เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง เนื้อละเอียดและสม่ำเสมอ มีความแข็ง สามารถผ่าเลื่อนได้ง่าย สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ใช้ทำกระดานพื้นบ้านได้[6]
  7. กระเบาเป็นต้นไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ต้นมีเรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบและไม่ผลัดใบ จึงสามารถให้ร่มเงาได้ตลอดทั้งปี และยิ่งในช่วงการแตกใบอ่อนสีชมพูแดงจะให้สีสันสวยงามมาก ส่วนดอกดอกถึงแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีกลิ่นหอมแรง อีกทั้งยังมีผลที่มีขนาดใหญ่ดูคล้ายผลทองแลดูสวยงาย[11]
References
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระเบาใหญ่ (Kra Bao Yai)“.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 34.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “กระเบาใหญ่“.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 61.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “กระเบา“.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 122.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “กระเบาน้ำ“.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 40.
  5. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระเบาน้ำ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [01 ก.พ. 2014].
  6. รอบรู้สมุนไพร, โรงเรียนบางสะพานวิทยา.  “กระเบา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bspwit.ac.th.  [01 ก.พ. 2014].
  7. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.
  8. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระเบาใหญ่“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th.  [01 ก.พ. 2014].
  9. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “กระเบา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/.  [01 ก.พ. 2014].
  10. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “กระเบา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [01 ก.พ. 2014].
  11. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระเบาใหญ่“.  อ้างอิงใน: thaimedicinalplant.com.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [01 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ), เว็บไซต์ qsbg.org (by ช่างสงสัย), เว็บไซต์ magnoliathailand.com (by ANS160)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม