มะเม่า สรรพคุุณและประโยชน์ของมะเม่า 29 ข้อ ! (หมากเม่า, มะเม่าหลวง)
มะเม่า สรรพคุุณและประโยชน์ของมะเม่า 29 ข้อ ! (หมากเม่า, มะเม่าหลวง)
สารบัญ [ซ่อน]
ผู้สนับสนุน
มะเม่า
มะเม่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma puncticulatum Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antidesma bunius var. thwaitesianum (Müll.Arg.) Trimen, Antidesma thwaitesianum Müll.Arg.) จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรมะเม่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ), หมากเม่า (ภาคอีสาน), มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง), เม่า, เม่าเสี้ยน, หมากเม่าหลวง, มะเม่าหลวง, มัดเซ เป็นต้น
พืชในตระกูลมะเม่ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 170 ชนิด และกระจายอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย อัฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาอินโดนีเซีย และเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะอยู่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้นที่พบได้มากในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ มะเม่าหลวง มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย และมะเม่าดง แต่ถ้าหากเราพูดถึง “มะเม่า” เฉย ๆ ก็จะหมายถึง เม่าหลวง นั่นเองครับ
ลักษณะของมะเม่า
- ต้นมะเม่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม สูงประมาณ 5-10 เมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ และมีเนื้อไม้แข็ง มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามหัวไร่ปลายนาทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดกาญจนบุรีจะมีต้นมะเม่าในป่าเป็นจำนวนมาก และมะเม่ายังเป็นผลไม้ท้องถิ่นของภาคอีสาน ในเทือกเขาภูพานของจังหวัดสกลนครอีกด้วย
- ใบมะเม่า เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
- ดอกมะเม่า ดอกมีขนาดเล็กมีสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและซอกใย ช่อดอกคล้ายพริกไทย ลักษณะของดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และสุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
- ผลมะเม่า ลักษณะของผลเป็นทรงกลม ผลมีขนาดเล็กและเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด เมล็ดกรุบกรับ ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
สรรพคุณของมะเม่า
- ผลมะเม่าสุกจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก้ชราได้อีกด้วย
- รสฝาดของผลมะเม่าสุก จะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย
- รสขมของมะเม่าจะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้
- ทั้งห้าส่วนของมะเม่า ใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะได้ (ผล,ราก,ต้น,ใบ,ดอก)
- น้ำมะเม่าสกัดเข้มข้น ใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้น ทีมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
- มะเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื่อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ (2546))
- ช่วยบำรุงสายตา (ผลสุก)
- ช่วยแก้กษัย (ต้น,ราก)
- ช่วยขับโลหิต (ต้น,ราก)
- มะเม่า สรรพคุณช่วยฟอกโลหิต (ผลสุก)
- มีสรรพคุณทางยาช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผลสุก)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น,ราก)
- ช่วยแก้มดลูกพิการ (ต้น,ราก)
- ช่วยแก้มดลูกอักเสบช้ำบวม (ต้น,ราก)
- ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ต้น,ราก)
- ช่วยขับน้ำคาวปลา (ต้น,ราก)
- ช่วยบำรุงไต (ต้น,ราก)
- ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ (ต้น,ราก)
- ช่วยแก้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้น,ราก)
- ใบมะเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ (ใบ)
- ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)
- หมากเม่า ประโยชน์ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาทำเป็นส้มตำมะเม่าก็ได้เช่นกัน
- ยอดอ่อนของมะเม่าใช้รับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
- ประโยชน์ของหมากเม่า สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นไวน์เกรดคุณภาพสูง เป็นต้น
- น้ำหมากเม่า หรือน้ำคั้นที่จากผลมะเม่าสุกสามารถนำไปทำสีผสมอาหารได้ โดยจะให้สีม่วงเข้ม แถมยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วยครับ
- เนื้อไม้ของต้นมะเม่าสามารถนำมาใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
- พระสงฆ์ในแถบเทือกเขาภูพานใช้เป็นน้ำปาณะมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
- ประโยชน์ของมะเม่า อย่างอื่นก็เช่น การปลูกเป็นไม้ปรับ หรือใช้ปลูกเพื่อเป็นร่มไม้ เป็นต้น
ผู้สนับสนุน
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะเม่า ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 75.2 กิโลแคลอรี่
- โปรตีน 0.63 กรัม
- เส้นใย 0.79 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัม
- กรดแอสพาร์ติก 559.43 มิลลิกรัม
- ทรีโอนีน 227.47 มิลลิกรัม
- ซีรีน 285.75 มิลลิกรัม
- กรดกลูตามิก 618,62 มิลลิกรัม
- โพรลีน 234.94
- ไกลซีน 250.23 มิลลิกรัม
- อะลานีน 255.17 มิลลิกรัม
- วาลีน 57.36 มิลลิกรัม
- ซีสทีน 274.60 มิลลิกรัม
- เมทไธโอนีน 22.87 มิลลิกรัม
- ไอโซลิวซีน 226.78 มิลลิกรัม
- ลิวซีน 392.53 มิลลิกรัม
- ไทโรซีน 175.17 มิลลิกรัม
- ฟีนิลอะลานีน 317.70 มิลลิกรัม
- ฮีสติดีน 129.43 มิลลิกรัม
- ไลซีน 389.08 มิลลิกรัม
- อาร์จินีน 213.33 มิลลิกรัม
- ทริปโตเฟน 189.00 มิลลิกรัม
- วิตามินบี1 4.50 ไมโครกรัม
- วิตามินบี2 0.03 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 8.97 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 13.30 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.44 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานสกลนคร
แหล่งอ้างอิง : กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการงานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมผ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกองโภชนาการ สถาบันราชมงคลจังหวัดสกลนคร
ภาพประกอบ : www.bloggang.com (P.Chin), www.hiangraifocus.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น