การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคมพ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช การสวรรคตของพระองค์สร้างความโศกเศร้าต่อประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
พระอาการประชวร
นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯประทับรถตู้พระที่นั่ง จากที่ประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กลับเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราช อีกครั้ง โดยถึงประตู 8 โรงพยาบาลศิริราช เวลา 23.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นพระองค์ทรงมีไข้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาดูแลใกล้ชิด[1] โดยสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร ฉบับที่ 1 ความว่า
วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 4 ว่าพระอาการทั่วไปดีขึ้น อุณหภูมิพระวรกายลดลงจนเกือบเป็นปรกติ การเต้นของพระหทัยเป็นปรกติ พระอาการเจ็บแผลผ่าตัดบรรเทาลง เริ่มเสวยพระกายาหารได้ คณะแพทย์ฯ ได้ลดพระโอสถระงับการเจ็บลง และงดถวายน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต แต่ยังคงถวายสารอาหารและพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิต กับเฝ้าดูและพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป[2] ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 5 ว่าพระอาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ พระชีพจรและความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ อุณหภูมิพระวรกายลดลงอีกจนเกือบเป็นปรกติ พระอาการเจ็บแผลผ่าตัดลดลงมาก เคลื่อนไหวพระวรกายได้ดีขึ้น หายพระหทัยปรกติ เสวยพระกระยาหารได้บ้าง[3]
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558เวลา 14.00 น. เพื่อเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ และเพื่อฟื้นฟูพระวรกายในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์[4]
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเพื่อมาตรวจพระวรกายของคณะแพทย์ ผลการตรวจพบว่าพระโลหิต อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิตพระหทัย และระบบการหายพระทัยเป็นปกติ[5]
ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ประชวร ว่ามีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย[6]
พระอาการประชวรในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559
ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีความดันพระโลหิตลดต่ำลง คณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิตระยะยาว แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย และมีการฟอกไต พระอาการไม่คงที่ ตามที่สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 37 ว่า[7]
หลังจากนั้น พระอาการเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ ทรงมีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) และมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง รายงานพระอาการประชวรฉบับสุดท้าย คือ ฉบับที่ 38 ความว่า [8]
วันที่ 12 ตุลาคม พระราชโอรส-ธิดาทั้งสี่พระองค์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธออีกสองพระองค์เข้าเยี่ยมพระอาการประชวร [9]
สวรรคต
สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคมพ.ศ. 2559 ความว่า [10] [11] [12]
เคลื่อนพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศไปยัง พระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา โดยขบวนจะเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราชทางถนนอรุณอมรินทร์ผ่านไปยังแยกอรุณอมรินทร์ขึ้น สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเคลื่อนต่อไปยังถนนราชดำเนินในเข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางถนนหน้าพระลาน ที่ ประตูพิมานไชยศรี และ ประตูเทวาภิรมย์ ตลอดเส้นทางมีประชาชนมาเฝ้าส่งเสด็จเป็นจำนวนมาก [13]
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเรื่องการเสด็จสวรรคต มีใจความสำคัญว่า รัฐบาลรับทราบการสวรรคตด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง ตลอดจนเห็นว่า มีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา จึงให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา มีกำหนด 30 วัน และให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 1 ปี เริ่มนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม เป็นต้นไป [14]
ประชาชนถวายน้ำสรงพระบรมศพ
ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 14.00 น. สำนักพระราชวังให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง มีพสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายเป็นจำนวนมาก [15]
ประชาชนถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
สำนักพระราชวังให้ประชาชนเข้าถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ [16] และได้จัดสมุดลงนามถวายความอาลัย ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง มีพสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวายสักการะเป็นจำนวนมาก
การถวายความอาลัย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แสดงความเสียใจต่อการสวรรคต ขอให้ประชาชนร่วมถวายความอาลัยและดำเนินชีวิตต่อไป [17]
รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา มีกำหนด 30 วัน และให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี เริ่มนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม เป็นต้นไป[18] รวมทั้งยังมีประกาศขอความร่วมมือให้งดจัดงานรื่นเริงต่างๆเป็นเวลา 30 วัน ส่งผลให้การแสดงรื่นรมย์ต่างๆเช่น คอนเสิร์ต งานมหกรรม กิจกรรมกีฬา การแสดงต่างๆ ต่างยกเลิกหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด รวมทั้งสถานบันเทิงต่างๆหลายแห่งปิดการให้บริการชั่วคราว [19] และยังมีการประกาศให้วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันหยุดราชการอีกด้วย [20]
ในสื่อโชเซี่ยลมีเดีย มีการถวายความอาลัยเช่นในเฟซบุ๊ก มีผู้ใช้งานจำนวนมากเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ถวายความอาลัย เพจดังต่างๆลงภาพถวายความอาลัยและงดโพสเนื้อหาบันเทิงเป็นการชั่วคราว [21]รวมทั้งทางเฟซบุ๊ก ยังได้มีการประกาศงดโฆษณาในเว็บไซต์ภาคภาษาไทยอย่างไม่มีกำหนดเพื่อถวายความอาลัย [22], กูเกิลประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนดูเดิลเป็นสีดำเพื่อถวายความอาลัย [23], ยูทูบได้มีการงดโฆษณาเป็นเวลา 7 วันเช่นกัน, ดาราและนักแสดงต่างร่วมกันถวายความอาลัยผ่านทางอินสตาแกรม และ ทวิตเตอร์ [24] ,นอกจากนี้เว็บไซต์ต่างๆทั่วประเทศได้เปลี่ยนสีเว็บเป็นขาวดำเพื่อถวายความอาลัย [25]
หลังจากสำนักพระราชวังประกาศการสวรรคต สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทุกช่องได้ออกอากาศรายการพิเศษจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เป็นการฉายสารคดีพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอดรัชสมัย สลับกับการแถลงการณ์ต่างๆที่เกียวข้องกับการสวรรคต วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้มีการถ่ายทอดสดการเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ กระทั่งเวลา 00.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จึงเริ่มการออกอากาศรายการต่างๆตามปกติ (อย่างไรก็ตามพลเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงว่า รัฐบาลได้ขอความร่วมให้งดรายการตามปกติและรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 30 วัน ก่อนจะถูกยกเลิกไป [26]) กสทชได้ขอความร่วมมือให้งดรายการรื่นเริงต่างๆเป็นเวลา 30 วัน [27]
การถวายความอาลัยจากนานาประเทศ
ผลกระทบ
มีกลุ่มประชาชนบางส่วนออกมาโจมตีต่อผู้ที่ไม่สวมเสื้อดำ แสดงการไว้ทุกข์ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการล่าแม่มด บางส่วนมีพฤติกรรมรุนแรง ถึงขั้นทำการประจานทางสื่อออนไลน์ [28] จากเหตุการณ์ดังกล่าว พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้าสีดำหรือสีขาวมาร่วมอำลาได้ สามารถติดริบบิ้น หรือโบว์สีดำ บนหน้าอกเสื้อ หรือที่แขนเสื้อบริเวณต้นแขนเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์อาลัยได้เช่นกัน [29][30]
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ออกมาปิดล้อมบ้านของลูกชายเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้ที่โพสข้อความค่อนข้างหมิ่นต่อสถาบัน [31] เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าโพสนั้นมิได้มีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันแต่อย่างใด แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าควบคุมตัวชายคนนั้นในข้อหาหมิ่นสถาบัน ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันในจังหวัดพังงา[32]
พระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 17.00 นาฬิกาโดยประมาณสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวังในการถวายสรงน้ำพระบรมศพ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเข้าสู่ภายในพระฉาก ซึ่งพระบรมศพบรรทมอยู่บนพระแท่น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยราชสักการะพระบรมศพทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์ โถน้ำอบไทยและโถน้ำขมิ้น ถวายสรงที่พระบรมศพ ต่อจากนั้น ทรงหวีพระเจ้าพระบรมศพขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหวีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพาน จากนั้นเสด็จฯไปทรงพระราชทานซองพระศรีบรรจุดอกบัวและธูปเทียน แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ พระชฎาห้ายอดวางข้างพระเศียรพระบรมศพ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญหีบพระบรมศพ เชิญหีบพระบรมศพขึ้นประดิษฐานหลังพระฉาก ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแวดล้อมด้วยเครื่องสูงทองแผ่ลวด บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงวางพวงมาลาที่หน้าพระโกศพระบรมศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะพระศพ และเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงทอดผ้าไตร 10 ไตร บนโต๊ะที่พระภูษาโยง เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์เที่ยวละ 10 รูป สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา จนครบ 100 รูป สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จไปที่หน้าพระโกศพระบรมศพและพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากนั้น เสด็จลงบันไดมุขกระสัน ด้านทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ
สำนักพระราชวัง กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2559
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 27 - 28 ตุลาคม 2559
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 1 - 2 ธันวาคม 2559
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 20 - 21 มกราคม 2560
พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม
นับตั้งแต่ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ ในการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ถึง วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
หีบพระบรมศพ
นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวว่า สำนักพระราชวังได้ติดต่อให้จัดสร้างหีบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสร้างหีบพระบรมศพทรงหลุยส์ผสมทองคำแท้ 100 % จากแผ่นไม้สักทองอายุมากกว่า 100 ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ขนาดความกว้าง 29 นิ้ว ความยาว 2.15 เมตร วัดรอบหีบทั้งใบ 229 นิ้ว ทั้งนี้ใช้เวลาประกอบทันทีหลังการเสด็จสวรรคต
เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หีบพระบรมศพดังกล่าวแกะสลักลายกุหลาบไทยผสมผสานลายหลุยส์ รอบหีบปิดด้วยทองคำแท้ ภายในหีบพระบรมศพ ใช้ผ้าไหมสีงาช้าง มีที่รองที่บรรทม และซีลภายในเพื่อความแข็งแรง ส่วนผ้าคลุมเป็นผ้าไหมปักดิ้นทอง ซึ่งทางสุริยาเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด [33]
การประโคมย่ำยาม
การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง แต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ
- ยาม 1 เวลา 06.00 น.
- ยาม 2 เวลา 09.00 น.
- ยาม 3 เวลา 12.00 น.
- ยาม 4 เวลา 15.00 น.
- ยาม 5 เวลา 18.00 น.
- ยาม 6 เวลา 21.00 น.
- ยาม 7 เวลา 24.00 น.
ในการประโคมงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ
- วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)
- วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้
- วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น
- วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น
- วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”
เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น
แต่โบราณดั้งเดิม ไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปี่หนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น
ที่มา:https://th.m.wikipedia.org/wiki/การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น