ลาน สรรพคุณประโยชน์ของต้นลาน 15 ข้อ ! (ลานวัด, ลานป่า, ลานพรุ)

ลาน สรรพคุณประโยชน์ของต้นลาน 15 ข้อ ! (ลานวัด, ลานป่า, ลานพรุ)

ลาน
ผู้สนับสนุน 

ลาน

ลาน ชื่อสามัญ Fan palm, Lontar palm, Talipot palm
ลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Corypha umbraculifera L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bessia sanguinolenta Raf., Corypha guineensis L.) จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
สมุนไพรลาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลานบ้าน, ลานวัด, ลานหมื่นเถิดเทิง, ปาล์มพัด เป็นต้น[1],[4]
ต้นลาน เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่จะอยู่ในตระกูลปาล์ม มีถิ่นมีกำเนิดอยู่ในอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยส่วนใหญ่แล้วต้นลานมักจะขึ้นที่ที่มีอากาศชื้นเย็นและมีฝนตกมาก มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติได้ดี ต้นเล็กแม้ว่าจะถูกไฟไม้แต่ก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากมีรากที่ลึกมาก โดยพรรณไม้ในสกุลลานจะมีอยู่ด้วย 6 ชนิดทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยจะพบต้นลานเพียงแค่ 3 ชนิดเท่านั้น[1],[3] ได้แก่
  • ลานพรุ (gehang palm, ebang Palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha utan Lam. มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลียและประเทศไทย พบได้มากในแถบภาคใต้แถว ๆ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่และพังงา ปาล์มชนิดนี้มักขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่ชุ่มน้ำ มีลักษณะของลำต้นที่สูงคล้ายกับต้นตาล โดยมีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้นไม่รวมกาบใบมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร และมักขึ้นรวมกันเป็นจำนวนมากในที่ราบท้องทุ่ง แม้ในบริเวณที่มีน้ำขัง[1],[3],[4]
  • ลานป่า หรือ ลานทุ่ง (Indochinese fan palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. ex Lecomte สามารถพบได้ในประเทศไทยและเวียดนาม จัดเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย โดยพบได้มากที่ปราจีนบุรี ขอนแก่น และสระบุรี และยังพบได้ทั่วไปในจังหวัดลพบุรี ตาก นครปฐม และพิษณุโลก และต้นลานป่านี้จะมีขนาดใหญ่ไม่เท่าลานวัด โดยมีความสูงประมาณ 15 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม่รวบกาบใบประมาณ 45-75 เซนติเมตร[1],[3],[4]
  • ลานวัด หรือ ลานบ้าน หรือ ลานหมื่นเถิดเทิง (ทั่วไปเรียกว่า “ลาน” หรือ “ต้นลาน“) (Fan palm, Lontar palm, Talipot palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha umbraculifera L. เป็นปาล์มชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาและอินเดีย และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกาอีกด้วย สำหรับในประเทศจะไม่พบตามธรรมชาติ แต่มักมีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ[1],[3],[4]
ต้นลาน

ลักษณะของต้นลานวัด

  • ต้นลาน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นตรงและแข็ง เป็นไม้ต้นเดี่ยวไม่แตกหน่อหรือกอ ส่วนเนื้อไม้เป็นเส้นใย ไม่มีกิ่ง ลำต้นมีกาบใบติดคงทนเรียงเวียนอยู่โดยรอบ และมีหนามคล้ายฟันเลื่อยสั้น ๆ อยู่ทั้งสองข้างริมขอบก้านใบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ต้นลานเมื่อแก่แล้วหรือมีอายุราว 20-80 ปี เมื่ออายุ 20-30 ปี ลำต้นจะมีความสูงถึง 25 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนต้นลานจะออกดอกและผล ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้นลาน โดยผลเมื่อแก่แล้วจะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน เมล็ดในผลจะงอกเป็นต้นลานขึ้นมาใหม่มากมาย [1],[2],[3]
ต้นลานบ้านต้นลานวัด
  • ใบลาน ใบมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือหรือรูปพัด ค่อนข้างกลมคล้ายกับใบตาล จนบางครั้งอาจเรียกว่า “ปาล์มพัด” ใบมีสีเขียวอมเทา แผ่นใบมีขนาดประมาณ 2.5-3×2.5-3 เมตร ส่วนก้านใบออกสีเขียวอ้วนสั้น ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร และขอบก้านใบมีหนามแน่นเป็นฟันคมสีดำยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีเส้นโค้งกลางใบยาวประมาณ 1 เมตร แผ่นใบหยักเป็นคลื่น มีร่องแฉกแยกแผ่นใบ 110 แฉก แต่ละแฉกมีขนาดประมาณ 75-150×4.6-5 เซนติเมตร (เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบใหญ่ที่สุดในโลก) เป็นไม้ทิ้งใบได้เองตามธรรมชาติ[1],[2],[3]
ใบลาน
กาบใบลาน
  • ดอกลาน หรือ ดอกต้นลาน ออกดอกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปพีระมิดตรงส่วนยอดของลำต้น มีความยาวประมาณ 6 เมตร ก้านชูช่อดอกสั้นหรือไม่มี ส่วนแกนช่อดอกยาวประมาณ 6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร โดยแกนช่อดอกจะมีถึง 30 ก้าน แขนงของก้านช่อดอกย่อยมีถึง 40 ก้าน ในแต่ละก้านจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกลานอยู่เป็นจำนวนมากเป็นล้าน ๆ ดอก โดยดอกจะมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม (บ้างก็ว่าดอกมีสีขาวครีม) นับตั้งแต่เมื่อเริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็นผลสำหรับรับประทาน จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป[1],[2],[3]
ดอกต้นลาน
ดอกลานดอกลานวัด
  • ผลลาน หรือ ลูกลาน หรือ ลูกต้นลาน ผลมีลักษณะกลมรี มีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำ ส่วนเนื้อในของผลจะคล้ายกับลูกจากหรือลูกชิด สามารถนำมารับประทานได้ ผลเมื่อแก่แล้วจะร่วงหล่นลงพื้นดิน แล้วจะงอกเป็นต้นลานเล็ก ๆ มากมาย[1],[3] ส่วนเนื้อของลูกลานจะคล้ายกับลูกชิดแต่จะมีลักษณกลม มีรสชาติจืดและเหนียวหนืด[5]
ลูกต้นลาน
ผลลานลูกลาน

สรรพคุณของลาน

  1. ช่วยรักษาไข้หวัด ด้วยการใช้รากนำมาฝนแล้วรับประทาน (ราก)[1],[2]
  2. รากนำมาฝนใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยขับเหงื่อ (ราก)[1],[2]
  3. สรรพคุณของลูกลาน ใช้รับประทานเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้ และช่วยระบาย (ลูกลาน)[5]
  4. เปลือกของผลสามารถรับประทานเป็นยาขับระบายได้ดี (เปลือกผล)[1]
  5. ต้นลาน สรรพคุณช่วยแก้พิษต่าง ๆ (ต้น)[2]
  6. บางแห่งมีการนำใบลานเผาไฟมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยดับพิษอักเสบ แก้อาการฟกช้ำบวมได้ดี ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่า “ยามหานิล” (ใบแก่)[1],[2]
ผู้สนับสนุน

ประโยชน์ต้นลาน

  1. เนื้อในของผลนิยมนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับลูกจากหรือลูกชิด ใช้ทำเป็น ลูกลานเชื่อม ลูกลานลอยแก้ว[1],[5]
  2. ลูกลานเมื่อนำมาทุบทั้งเปลือก แล้วโยนลงน้ำจะช่วยทำให้ปลาเมา (แต่ไม่ถึงตาย) ทำให้ความสะดวกในการจับปลา[1]
  3. ในสวนของลำต้นเมื่อนำมาตัดเป็นท่อน ๆ สามารถนำมาใช้ทำเป็นที่นั่งเล่น หรือนำไปใช้เพื่อตกแต่งหรือประดับสวนได้ และยังใช้ทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม ส่วนทางภาคใต้บางแห่งอาจมีการนำมาใช้ทำเป็นครกและสาก[1] นอกจากนี้ลำต้นยังสามารถนำมาใช้เลี้ยงด้วงได้เป็นอย่างดี ส่วนต้นลานที่แก่จัด ยังสามารถนำมาเลื่อยเอากาบมาใช้ทำเป็นโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยได้[6]
  4. สำหรับต้นลานป่านั้น เนื่องจากมีลำต้นและใบที่สวยงาม จึงมีผู้นำมาใช้สำหรับตกแต่งเป็นไม้ประดับตามสวนเพื่อใช้ปรับภูมิทัศน์ให้ดูสวยงาม[2]
  5. ใบลานอ่อน หรือ ยอดลานอ่อน นิยมใช้เป็นที่เขียนจารึกตัวอักษรในหนังสือพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ด้วยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา แล้วเอาทรายมาลบ ยางรักจะแทรกอยู่ในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ โดยเราจะเรียกหนังสือจากใบลานนี้ว่า “คัมภีร์ใบลาน” (ใบลานป่าก็ใช้ได้เช่นกัน) นอกจากนี้ยังสามารถนำมาพิมพ์เป็นการ์ด หรือนามบัตร ที่คั่นหนังสือ หรือนำไปใช้ในงานจักสารต่าง ๆ เพื่อใช้ทำเป็น พัด หมวก กระเป๋า เสื่อ งอบ ภาชนะต่าง ๆ ในครัวเรือน รวมไปถึงทำเป็นเครื่องประดับสำหรับตกแต่งบ้าน เช่น การทำเป็นโมบานรูปสัตว์ อย่างเช่นปลาตะเพียน[1]
  6. ใบลานแก่ สามารถนำมาใช้สำหรับมุงหลังคา ทำเป็นผนังหรือฝาบ้านได้[1]
  7. ก้านใบ สามารถนำมาใช้ทำเป็นโครงสร้าง ไม้ขื่ ไม้แป รวมไปถึงผนัง หรือนำมาใช้แทนเชือกเพื่อมัดสิ่งของได้ดีเพราะมีความเหนียวมาก[1]
  8. กระดูกลาน (ส่วนที่ใกล้กับบริเวณหนามแหลม) จะมีความแข็งและเหนียวมากกว่าก้านใบ สามารถนำมาใช้ทำเป็นคันกลดพระธุดงค์ได้ หรือนำไปใช้ทำเป็นขอบภาชนะจักสานทั่ว ๆ ไป เช่น ขอบตะกร้า ขอบกระด้ง กระบุง ตะแกรง ฯลฯ[1]
  9. ทางภาคใต้จะนำยอดของลานพรุมาฉีกเป็นใบ แล้วสางออกเป็นเส้น ๆ ปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายกับด้าย สามารถนำไปใช้ทอเป็นแผ่น หรือที่เรียกว่า “ห่งอวน” หรือ “หางอวน” ทำเป็นถึงรูปสามเหลี่ยมใช้สำหรับไว้ต่อปลายอวน ใช้เป็นถุงจับกุ้ง หรือสานเป็นถุงใส่เกลือ ซองใส่ยาเส้น ซองใส่แว่นตา หรือใช้ทำเป็นเคยสำหรับทำกะปิ ฯลฯ[1]
ลูกลานวัด
References
  1. เทรคกิ้งไทยดอทคอม. “เรื่องของ ต้นลาน ใบลาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.trekkingthai.com.  [2 พ.ย. 2013].
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมา.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [2 พ.ย. 2013].
  3. สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ลาน พืชสืบสานวิถีชีวิตไทย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: oamc.ku.ac.th.  [2 พ.ย. 2013].
  4. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  5. GotoKnow.  “ลูกลาน หาทานยาก (60ปีมีทานหนึ่งครั้ง?)“.  (เจษฎา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org.  [2 พ.ย. 2013].
  6. โรงเรียนเชียงใหญ่.  “ต้นลาน“.  (สุนันท์ รักช้าง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.cy.ac.th.  [2 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by tranquilometro, slurp, LIS Atelier, Russell Cumming, KarlGercens.com, The University of the West Indies, swazilander)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม