ลูกู สรรพคุณและประโยชน์ของลูกู ดูกู 9 ข้อ ! (ลองกองป่า)
ลูกู สรรพคุณและประโยชน์ของลูกู ดูกู 9 ข้อ ! (ลองกองป่า)
ผู้สนับสนุน
ลูกู
ลูกู หรือ ดูกูภาษาอังกฤษ Duku
ลูกู ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia dookkoo Griff. จัดเป็นพืชในสกุลเดียวกันกับลองกอง และลางสาด
ลูกู มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกว่า ลองกองป่า (ประเทศไทย), Celoring, Kokosan, Pisitan เป็นต้น[1]
ผลไม้ลูกู เป็นผลไม้ทางภาคใต้ของไทย โดยจัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE เช่นเดียวกับกระท้อน กัดลิ้น ตะบูนขาว ตะบูนดำ และสะเดา[1]
ลักษณะของลูกู
- ต้นลูกู จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 30 เมตร เปลือกลำต้นชั้นนอกมีสีส้มและสีเทาเป็นดวง ๆ และลำต้นมียาง[1]
- ใบลูกู มีใบเป็นใบประกอบ เกิดสลับซ้ายขวา ใบค่อนข้องหนา มีสีเขียวเข้มคล้ายใบลองกอง แต่รอยหยักเป็นคลื่นจะน้อยกว่า โดยใบลูกูนั้นมีลักษณะเป็นรูปไข่รีโค้งมน[1],[2]
- ดอกลูกู ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกมีขนาดเล็ก ดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน ก้านช่อดอกเป็นสีเหลืองอมสีเขียว โดยช่อดอกมักจะเกิดจามลำต้นและตามกิ่ง[1]
- ผลลูกู ผลสดออกเป็นช่อ ลักษณะของผลคล้ายกับลองกอง แต่ผลมีขนาดใหญ่กว่า โดยผลมีลักษณะกลมรี มีขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลือง เปลือกของผลค่อนข้างบาง ผิวละเอียด เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน รสหวานอมเปรี้ยวและหอม มีเมล็ดในผลมาก โดยเมล็ดจะไม่ขมเหมือนลางสาด[1]
ลูกูที่พบในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ดูกูแปร์แมร์ (ผลมีลักษณะรี ก้นผลแหลม ผิวย่นเล็กน้อย), และ ดูกูน้ำ (ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ผิวดูสดใสกว่าดูกูแปร์แมร์)
สรรพคุณของลูกู
- เมล็ดใช้บดผสมกับน้ำใช้รักษาอาการไข้ (เมล็ด)[1]
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษามาลาเรีย (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด (เปลือกต้น)
- เปลือกของผลลูกู สามารถนำมาใช้รักษาโรคอุจจาระร่วงได้ (เปลือกผล)[1]
- เปลือกต้นนำมาใช้เป็นยาสำหรับพอกเมื่อถูกแมงป่องต่อย (เปลือกต้น)[1]
ผู้สนับสนุน
ประโยชน์ลูกู
- ผลสดใช้รับประทานเป็นผลไม้ แต่ไม่เป็นที่นิยม[1]
- เปลือกแห้งนำเผาใช่ไล่ยุงได้[1]
- ลำต้นสามารถนำมาทำเป็นวัสดุสำหรับใช้ในงานก่อสร้างได้ เนื่องจากมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง[1]
- ลูกู เป็นผลไม้ที่ไม่ค่อยมีราคา จึงนิยมใช้เมล็ดนำไปเพาะเป็นต้นตอในการขยายพันธุ์ลองกองและลางสาด[1]
References
- ฐานข้อมูลลองกอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.longkong.ist.cmu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
- ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร. “ลูกู“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chantaburi/. [16 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.flickr.com (by chooyutshing, Yeoh Thean Kheng, UmmAbdrahmaan @AllahuYasser!, jensen_chua, TY Chai)
เรียบเรียงข้อมูลโดย MedThai (ไม่อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหาไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด)
ผู้สนับสนุน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น