การสังเกตปัญหาเกียร์ออโต้

เกียร์ออโต้

การสังเกตปัญหาเกียร์ออโต้(จบ)

ปีหนึ่งๆ เราใช้รถนับพันกิโลเมตร ทำให้เกียร์ที่ทำงานหนักอาจจะมีปัญหาได้ ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ทราบว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงเกียร์ที่กำลังมีปัญหา ดังนั้น เรื่องเกียร์ในสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ผมนำอาการของเกียร์ออโต้ที่บ่งบอกว่ามีปัญหามาอธิบา

เข้าเกียร์แล้วรถไม่ค่อยอยากจะออกตัว
อาการรถไม่ออกตัว โดยเฉพาะในเกียร์ D และหรือเกียร์ R อาการนี้หลายครั้งที่ ได้รับแจ้งจากผู้ใช้ ว่ารถไม่ค่อยวิ่ง สาเหตุเกิดขึ้นจาก น้ำมันเกียร์ มีปริมาณไม่ถูกต้อง เช่น น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ถ้าพูดง่ายๆ ก็เกิดจากการขาดการดูแลตรวจตรา เพียงแค่เติมน้ำมันให้ได้ระดับที่ถูกต้องก็สามารถที่จะใช้งานได้ตามปกติ
แต่อาการนี้ถ้าเกิดขึ้นกับรถที่มีระยะการใช้งานมากกว่าแสนกิโลเมตรขึ้นไปและผ่านการดูแลบำรุงรักษาตามปกติตลอดเวลา ก็จะเกิดจากการสึกหรอภายในเกียร์ เช่น ชุดผ้าคลัตช์ ชุดวาล์ว ควบคุมแรงดัน การแก้ไขเป็นเรื่องใหญ่โตเสียเงินกันมาก เพราะต้องยกเกียร์ออกมาผ่าหรือเรียกว่าโอเวอร์ฮอล์เกียร์กันเลยทีเดียว
เข้าเกียร์ D หรือ R แล้วกระตุกหรือกระชาก
ปัญหานี้เช่นกันมักจะเกิดจากผู้ใช้รถไม่ตรวจสภาพและปริมาณน้ำมันเกียร์ หรือปริมาณน้ำมันเกียร์มากกว่าปกติ น้ำมันเกียร์ไม่ได้เปลี่ยนถ่ายตามปกติ และที่เกิดขึ้นง่ายๆ ก็คือออกรถในขณะที่อุณหภูมิของเครื่องยนต์ไม่ถึงเกณฑ์ทำงานปกติ พูดได้ว่าออกรถในขณะที่เครื่องยังเย็นอยู่ หรือเมื่อใช้งานไปแล้ว (เครื่องร้อนแล้ว) แต่น้ำมันเกียร์ยังไม่ถึงอุณหภูมิที่ถูกต้อง (เกียร์เย็น) หรือน้ำมันเกียร์ร้อนเกินกว่าที่กำหนด การแก้ไขต้องเริ่มที่ตรวจวัดระดับน้ำมันเกียร์รวมทั้งคุณภาพของน้ำมันเกียร์  ตามด้วยการตรวจเช็กระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ และน้ำมันเกียร์  หรือในเกียร์ออโต้รุ่นแรกๆ รวมทั้งที่ยังไม่มีระบบไฟฟ้าควบคุมมากมายนัก ก็ตรวจหรือปรับตั้งที่สายเกียร์
เกียร์เปลี่ยนเร็ว หรือช้ากว่าปกติ
 อาการนี้เกิดจากการปรับตั้งสายเกียร์ที่ไม่ถูกต้อง (ในรุ่นที่มีสายเกียร์) แก้ไขโดยการปรับตั้ง ในรุ่นที่ควบคุมระบบไฟฟ้า เคลียร์เมมโมรีของสมองเกียร์ (Transmission Control Module) หรือตรวจสอบวาล์วควบคุมทางเดินน้ำมันด้วยไฟฟ้า น้ำมันเกียร์ มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งน้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพ แก้ไขด้วยการเติมหรือเดรนส่วนที่เกินออกหรือเปลี่ยนน้ำมันเกียร์การอุดตันของทางเดินน้ำมันเกียร์ในสมองเกียร์ (Valve body) แก้ไขด้วยการถอดสมองเกียร์ (โดยช่างที่ชำนาญ) ออกมาล้างทำความสะอาด มีการรั่วซึมภายในระบบเกียร์ของชุดเกียร์ต่างๆ เช่น แหวนกันน้ำมัน ลูกสูบวาล์ว (ลิ้นปิดเปิด ทั้งแบบกลไก และหรือไฟฟ้า)

เกียร์สุดท้ายไม่มีและหรือไม่มีคิกดาวน์
 อาการไม่มีคิกดาวน์ถ้าเกิดขึ้นหลังจากการซ่อมเกียร์ (ผ่าเกียร์) เกิดจากการประกอบผิดพลาด ชิ้นส่วน (แหวนกันน้ำมัน โอริงกันน้ำมัน) ฉีกขาด ใส่กลับทาง ใส่ไม่ครบ แต่ถ้าเกิดจากการใช้งานมานานแล้วยังไม่เคยผ่านการซ่อมมาก่อนจะเกิดจากการรั่วซึมภายใน ก็ต้องผ่าเกียร์ เปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหาย
ออกตัว ต้องเร่งเครื่องใช้รอบสูงๆ
 อาการนี้แม้ว่าจะวอร์มเครื่องก่อนออกรถแล้วก็ตาม แก้ไขโดยตรวจระดับน้ำมันเกียร์และคุณภาพของน้ำมันเกียร์  ถ้าน้ำมันเกียร์ถูกต้อง เกิดจากผ้าคลัตช์ในชุดเกียร์สึกหรอเสื่อมสภาพ แก้ไขโดยการยกเกียร์ผ่าเกียร์เปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอครับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกียร์ออโต้จากประสบการณ์ดูเหมือนจะมีอยู่เท่านี้ 
 ปัจจุบันเกียร์ออโต้ที่ติดตั้งมาในรถรุ่นใหม่ๆ มีรูปแบบหรือเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ผู้ผลิตเช่นเกียร์ CVT (Continuous Variable Transmission ) หรือเกียร์ลูกข่างหรือเกียร์โซ่ เป็นเกียร์ออโต้แบบใหม่ที่ชิ้นส่วนภายในและระบบการทำงานภายในแตกต่างจากเกียร์ออโต้ทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง และเริ่มมีใช้กันแพร่หลายในบ้านเรา ในรถเก๋งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในบางยี่ห้อ  มีรายละเอียดของการทำงานและชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย ที่จะใช้โอกาสอื่นในการนำเสนอ
อย่างไรก็ตามในด้านของผู้ใช้รถแล้วการใช้ (การขับ) การดูแลบำรุงรักษาก็ไม่ต่างไปจากเกียร์ออโต้ที่กล่าวมาทั้งหมด

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม